พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ

รูปถ่ายหลวงพ่อ ครูบากัญชัย กาญจนโณ


รูปถ่ายหลวงพ่อ ครูบากัญชัย กาญจนโณ


รูปถ่ายหลวงพ่อ ครูบากัญชัย กาญจนโณ

ขายแล้ว กลับหน้าร้าน
ชื่อพระ :
 รูปถ่ายหลวงพ่อ ครูบากัญชัย กาญจนโณ
รายละเอียด :
 

หลวงพ่อพระครูสิริรัตนาภรณ์หรือเรียกกันว่า  หลวงพ่อครูบากัญไชย  ท่านเกิดปีเถาะ  วันที่  12  มิถุนายน  พ.ศ. 2485  ที่บ้านศรีบุญเรือง  ตำบลม่วงตึ๊ด  อำเภอเมือง  จังหวัดน่าน  มีนามเดิมว่า  เด็กชายดวงคำ  พลายสาร  บิดาชื่อนายยศ  มารดาชื่อนางต่อม  พลายสาร  หลวงพ่อเป็นบุตรคนที่ 5  มีพี่น้องชายหญิงรวมกันทั้งหมด 9 คน

                ชีวิตในวัยเด็ก  ท่านเป็นคนที่มีความจำดีเยี่ยม  มีความเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย  มีจิตใจโอบอ้อมอารี  สุภาพอ่อนน้อม  รู้จักสัมมาคารวะ  และเป็นที่รักใคร่ของคนทั่วไปในหมู่บ้าน  เมื่ออายุได้ 13 ปี  บิดาได้นำไปฝากเป็นศิษย์วัด  อยู่กับเจ้าอธิบการขัติยศ  โชติธฺโม  เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง  และเจ้าคณะตำบลม่วงตึ๊ด  อำเภอเมือง  จังหวัดน่าน  ท่านได้เรียนหนังสือล้านนาไทยพื้นเมืองเหนือจนแตกฉาน  และวิชาลงอักขระอาคมด้วย  พร้อมกับเข้าเรียนหนังสือไทย  ณ  โรงเรียนประชาบาล  ที่วัดม่วงตึ๊ด  จังหวัดน่าน  จนสำเร็จชั้นประถมศึกษาปีที่ 2

                พอได้อายุ 16 ปี  ได้บรรพชาเป็นพระภิกษุ  โดยมีพระอธิการกัญจนะวงศ์  เจ้าอาวาสวัดม่วงตึ๊ด  เป็นพระอุปัชฌาย์  และเปลี่ยนชื่อให้ท่านใหม่ว่า  กัญไชย  เมื่ออายุครบ 20 ปี  หลวงพ่อได้อุปสมบทเมื่อวันที่  2  มิถุนายน  2478  ณ  พัทธสีมาวัดม่วงตึ๊ด  จังหวัดน่าน  โดยมีพระครูนันท-สมณาจารย์  เจ้าคณะจังหวัดน่าน  เป็นพระอุปัชฌาย์  พระครูธรรมสิริสุนทร  เจ้าอาวาสวัดภูมินทร์  เป็นพระกรรมวาจารย์  พระครูสิริธรรมกิต  เจ้าอาวาสวัดอภัยเป็นอนุสาวจารย์ได้รับฉายาว่า

                กัญไชยกาญจโน  หลังจากที่หลวงพ่อได้อุปสมทบเป็นพระภิกษุแล้ว  ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย  และศึกษาค้นคว้าวิชาอาคมจากสมุดข่อยกับครูบาอาจารย์ดังๆหลายท่าน จนในที่สุดหลวงปู่ขัติยศ  โชติธฺมโม  ได้ถ่ายทอดวิชาอาคมที่เล่าเรียนมาให้กับหลวงพ่อจนหมดสิ้น  รวมทั้งชี้แนวทางการปฏิบัติจิตฝึกฝนด้านวิปัสสนากรรมฐาน  การบำเพ็ญตนให้อยู่ในศีลอันบริสุทธิ์อย่างเคร่งครัด  หลวงพ่อยังมีความสามารถในด้านก่อสร้างซึ่งฝากผลงานมากมายให้เห็นเป็นประจักษ์แก่สาธารณชนตราบเท่าทุกวันนี้จนเมื่อครั้งมีการซ่อมแซมพระธาตุของวัดแช่แห้ง  จังหวัดน่าน  ท่านจะแบกถังทรายและผสมปูนเอง  จนน้ำปูนกระฉอกเข้าหู  และเป็นสาเหตุให้หูทั้งสองข้างพิการนับแต่นั้นมา

                ต่อมาปี พ.ศ. 2480  หลวงพ่อได้พัฒนาบูรณะซ่อมแซมก่อสร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ในวัดท่าน้าวและอีกหลายวัด  รวมทั้งช่วยตัดถนนหนทางและสร้างสะพานจนปรากฏความดีความชอบ  โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบโล่เงิน 1 อัน  โล่ทอง  นาค  1 อัน  ให้เป็นอนุสรณ์

                มีอยู่วันหนึ่งขณะที่หลวงพ่อได้แผ่เมตตาจิตพระธรรมวินัยญาณ  เหมือนนิมิตไปว่าท่านกำลังเดินทางมุ่งหน้าไปยังทางทิศตะวันตกของประเทศที่มีป่าเขาทึบ  มีภูเขาสูงเสียดฟ้า  ทำให้ท่านคิดได้ว่า  อยากจะสร้างเสนาสนะให้กับวัดที่ยากไร้ในถิ่นทุรกันดารสักแห่งสองแห่งของทิศดังกล่าว  แล้วจะกลับมายังจังหวัดน่าน

                ปี พ.ศ. 2493  ท่านไดกราบลาพระเดชพระคุณหลวงปู่ขัติยศ  ออกจากวัดศรีบุญเรือง  จังหวัดน่านมุ่งตรงไปยังอำเภอแม่สอด  จังหวัดตาก  ในขณะนั้นระยะทางจากจังหวัดตากไปยังอำเภอแม่สอด  ยังไม่มีทางรถยนต์วิ่ง  ท่านต้องเดินทางด้วยเท้าขึ้นเขาลงห้วยพักแรมตามระหว่างทาง 3 คืน  4 คืน  จนถึงอำเภอแม่สอด  และท่านได้พำนักอยู่  ณ  วัดดอนไชย  อำเภอแม่สอด  เป็นเวลาพอสมควร

                ในขณะพักอยู่ที่วัดดอนไชย  ท่านได้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้กับวัดดอนไชยอย่างมากมายขณะเดียวกันได้สร้างพระอุโบสถ  ศาลาการเปรียญวัดอรัญเขต  พระอุโบสถ  วัดมณีไพสณฑ์  จนชื่อเสียงของท่านเลื่องลือไปทั่วของการเป็นพระนักพัฒนาเป็นนายช่างก่อสร้างวัดวาอาราม

                เมื่อท่านได้ปฏิสังขรณ์เสนาสนะของวัดต่าง ๆ จนเป็นที่พอใจตามที่ตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่แรกแล้ว  เตรียมตัวจะเดินทางกลับยังจังหวัดน่าน  ขณะเดียวกันนั้น  นายยศ  คำมา  และ  นายมูล  กริยา   พร้อมด้วยคณะทายก  ทายิกา  วัดมาตานุสรณ์  ตำบลแม่กาษา  อำเภอแม่สอด  พร้อมด้วยชาวบ้านจำนวนมาก  ได้พร้อมใจกันกราบอาราธนา  นิมนต์หลวงพ่อไปจำพรรษาที่วัดเพราะวัดไม่มีพระภิกษุประจำมีเพียงสามเณร  ท่านจึงรับนิมนต์ไว้  และตั้งใจว่าจะขออยู่เพียงแค่ 1 พรรษาเท่านั้น  เมื่อออกพรรษาแล้วคณะทายกทายิกา  ผู้อุปการะวัดได้ปรึกษาหารือที่จะสร้างพระวิหารของวัด  เนื่องด้วยวิหารหลังเก่าชำรุดทรุดโทรมมาก  ด้วยความมีเมตตาจิต  หลวงพ่อ  จำเป็นต้องอยู่ช่วยสร้างพระวิหารจนแล้วเสร็จ  พร้อมกับขอพระราชทาน  วิสุงคามสีมา  ให้แก่วัดมาตานุสรณ์เมื่อปลายปี 2494  ต่อมาได้รับพระบรมราชานุญาต  เมื่อปี พ.ศ. 2495  ทางวัดจึงทำพิธีฝังลูกนิมิต  และผูกพัทธสีมาในปีนั้น

                ต่อมาวันที่  15  กันยายน  2496  หลวงพ่อได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดมาตานุสรณ์  อย่างเป็นทางการ  นับแต่นั้นมาหลวงพ่อได้สร้างถาวรวัตถุต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนมากมายนานัปการ เจตนารมณ์ของท่านอีกประการหนึ่งก็คือปลุกจิตสำนึกให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของน้ำ  เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ป่าซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร  จนเกิดโครงการที่มีชื่อว่า  “ปลูกป่าเสริมศรัทธา  ครูบากัญไชย  ร่วมใจอนุรักษ์แหล่งน้ำ”

                                สมณศักดิ์ของหลวงพ่อครูบากัญไชยได้รับกรุณาโปรดเกล้าฯ  เป็นพระครูสิริรัตนาภรณ์  เมื่อวันที่  5  ธันวาคม  2512  และได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลแม่กาษา  เมื่อวันที่  11  มกราคม  2533  หลวงพ่อเป็นผู้มีจิตเมตตาสูง  ไม่เคยปฏิเสธเมื่อมีผู้เดือดร้อนมาพึ่งบารมีจากท่าน  บางครั้งท่านไม่สบายนอนพักรักษาตัวอยู่ที่ตึกสงฆ์อาพาธโรงพยาบาลแม่สอด  ก็ยังไม่เคยปฏิเสธในกิจของสงฆ์

                หลวงพ่อได้ตรากตรำทำงานหนักจนเกิดอาพาธหนักสุด  เมื่อวันที่  3  พฤษภาคม  2541  หลังจากกลับมาจากงานบำเพ็ญกุศลศพ  หลวงพ่อนนท์  พลายสาร  พี่ชายของหลวงพ่อที่จังหวัดน่าน  หลวงพ่อได้ตั้งปณิธานโดยไม่ฉันอาหารเป็นเวลา 3 วัน  ซึ่งปกติท่านฉันหนเดียวเป็นนิตย์ตลอดมาตั้งแต่อายุ 60 ปี  แม้จะอาพาธหนักก็มิได้เลิกละแต่ประการใด  สุขภาพของท่านแย่ลงเนื่องด้วยไม่ได้พักผ่อน  กอปรกับการอดอาหารทำให้หลวงพ่อมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว  คณะศิษยานุศิษย์ได้นำท่านไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  อาการหลวงพ่อกลับดีขึ้น  ด้วยบุญบารมีของหลวงพ่อที่ได้สั่งสมไว้  ทำให้สุขภาพแข็งแรงเหมือนเดิม  แต่ก็เข้าออกโรงพยาบาลแม่สอดด้วยโรคหลอดลมอักเสบธรรมดาเพียงเท่านั้น

                หลวงพ่อเข้ารับการรักษาอีกครั้งเมื่อคณะศิษยานุศิษย์เห็นว่าท่านไม่ได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ  จึงนำท่านเข้าพักรักษาที่ตึกสงฆ์อาพาธ  โรงพยาบาลแม่สอด  เมื่อเวลา 03.00 น.  ของวันที่  9  กุมภาพันธ์  2542  ซึ่งท่านปรารถนาว่าเป็นวันอัมฤทธิ์สะโชค (อมฤตโชค)  ตำราล้านนา  ถือว่าเป็นวันที่ดีที่สุดวันหนึ่งของเดือนกุมภาพันธ์  หลวงพ่อได้ละสังขารด้วยอาการสงบ  เมื่อบ่ายของวันเดียวกัน

                เพื่อให้คณะศิษยานุศิษย์ได้หายข้องใจ  คณะแพทย์ได้พยายามช่วยเหลือจนสุดความสามารถและให้ทุกคนได้เห็นว่าหลวงพ่อได้ละสังขารของท่านจริง ๆ แล้ว  เมื่อเวลา 22.04 น.  ของวันอังคารที่ 9  แรม 9 ค่ำ  เดือนกุมภาพันธ์  2542  สิริอายุรวม 83 ปี  8 เดือน  7 วัน  64 พรรษา

                ในวันพุธที่ 10  กุมภาพันธ์  2542 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงศพแด่พระเดชพระคุณหลวงพ่อครูบากัญไชย  กาญจโน  โดยมี  นายปานชัย  บวรรัตนปราน  รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก  เป็นผู้อัญเชิญน้ำสรงศพพระราชทาน มีพุทธศาสนิกชน  คณะสงฆ์  และคณะศรัทธาสาธุชนที่เลื่อมใสศรัทธาหลวงพ่อ  มาร่วมพิธีกันเป็นจำนวนมาก  และตั้งศพของท่านบำเพ็ญกุศลในมหาวิหารวัดมาตานุสรณ์โดยบรรจุศพของหลวงพ่อในโลงแก้วเพื่อให้สานุศิษย์  พุทธศาสนิกชนได้นมัสการกราบไหว้บูชา

                แม้ว่าหลวงพ่อได้ละสังขารจากโลกนี้ไปได้สองปีเศษแล้วก็ตาม  แต่ร่างกายของหลวงพ่อที่บรรจุในโลงแก้วยังไม่เน่าเปื่อยไปตามกาลเวลา  เหมือนหลวงพ่อยังนอนหลับอยู่อย่างน่าอัศจรรย์เลยทีเดียว

 

ราคา :
 8,500.-
ร้าน :
โทรศัพท์ :
 0945562346, 0945562346
วันที่ :
 6/04/18 22:29:18
 
 
รูปถ่ายหลวงพ่อ ครูบากัญชัย กาญจนโณ พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.