พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ
โชว์พระเกจิอาจารย์ทั่วไป

เหรียญหลวงพ่อเป้า วัดสุคันธาวาส รุ่นแรก


 เหรียญหลวงพ่อเป้า วัดสุคันธาวาส รุ่นแรก


 เหรียญหลวงพ่อเป้า วัดสุคันธาวาส รุ่นแรก

   
 

 เหรียญรูปไข่ พระครูเป้า วัดสุคันธาวาส อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ รุ่นแรก ปี ๒๔๙๘เป็นเหรียญยอดนิยมที่มีงานประกวดพระเครื่องท้องถิ่นในจังหวัดสมุทรปราการทุกงานเหรียญนี้หลวงพ่อเผือก แห่งวัดกิ่งแก้ว เข้าร่วมปลุกเสกด้วยท่านเป็นศิษย์สายหลวงพ่อปาน บางเหี้ย..เหรียญเหนียวๆอีกเหรียญ แคล้วคลาดดีนัก.......ประวัติวัดมงคลโคธาวาส ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ พระครูสาธิตธรรมนาท (โพธิ์ ฐานุตฺตโม) เรียบเรียงตามคำ หลวงพ่อสาย พุทฺธเสฏฺโฐ เล่าประกอบ พระครูชื่น ธมฺมโชติ ช่วยแก้ที่ผิดพลาด

        วัดมงคลโคธาวาสนี้ ได้ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ในสมัยแรกสร้างบ้านเมื่อยังไม่เจริญ ผู้คนน้อย จัดว่าอยู่ไม่สู้ไกลจากหมู่บ้านตำบลนี้มากนัก มาบัดนี้จะว่าตั้งอยู่กลางตำบลก็ว่าได้แล้วเพราะว่ามีบ้านคนตั้งอยู่ล้อมรอบการคมนาคมไปมาสะดวกสบายดี วัดนี้ได้ตั้งอยู่ระหว่างกลาง ประตูน้ำชลหารพิจิตร์ กับถนนสุขุมวิทย์ (สายกรุงเทพ - ตราด) ติดต่อกันเป็นวัดที่น่าสนใจอยู่มากเหมือนกัน เพราะว่าเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งก็ว่าได้

        วัดนี้ได้เริ่มสร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ตระกูลของหลวงพ่อปาน (พระครูพิพัฒนิโรธกิจ) สร้างเอาไว้ (ตามคำบอกเล่าของหลวงพ่อสาย พุทฺธเสฏโฐ ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของหลวงพ่อปาน) เป็นผู้จัดการสร้างครั้งแรก พร้อมด้วยประชาชนผู้ที่มีใจศรัทธาในตำบลนี้ ได้ช่วยกันจัดสร้างขึ้นเพื่อเอาไว้บำเพ็ญกุศล เพราะว่าจะไปวัดสร้างโศกก็ไกลจากหมู่บ้าน หรือว่าจะไปวัดโคธารามก็ไม่ใกล้นัก เลยจำเป็นต้องสร้างวัดขึ้นในหมู่บ้านของตน เพราะการบำเพ็ญกุศลสะดวกสบายดีจึงทำให้วัดนี้ตั้งอยู่ได้แล้วเจริญด้วย เพราะว่าในสมัยที่สร้างวัดนั้นประตูน้ำยังไม่สร้าง และถนนก็ยังไม่ได้ตัดมา บ้านคนอยู่เป็นกลุ่ม ๆ วัดนี้ได้ตั้งอยู่ที่ริมแม่น้ำคลองด่าน จัดว่าเป็นที่ข้างลุ่มสักหน่อยเพราะว่าในเมื่อมีน้ำทะเลขึ้นมาก ๆ ท่วมเต็มลานวัดไปหมด ในบางตอนต้องทำสะพานยาว ๆ เพื่อเดินไปวัดสะดวกสบาย
        วัดเริ่มสร้างที่แรก ถามใครไม่กล้ายืนยันลงไปแน่ว่าใครเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกแล้วปกครองอยู่กี่ปี ยังไม่มีใครทราบ อาตมภาพได้สอบถามคนอายุ 90 ปี เศษ ดู แกก็จำไม่ได้เหมือนกัน ได้รู้ว่าสร้างมานานเท่านั้น แต่ทราบกันดีว่าในสมัยหลวงพ่อถันเป็นเจ้าอาวาส

เหตุการณ์ในสมัยหลวงพ่อถันเป็นเจ้าอาวาส

        หลวงพ่อถันรูปนี้ เป็นคนบ้านอยู่คลองนางโหง ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ในสมัยที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่นั้น ได้มีพระเถระที่ทรงคุณวุฒิอยู่หลายรูป อาทิ เช่น
        1. หลวงพ่อปาน (พระครูพิพัฒนิโรธกิจ)
        2. หลวงพ่อเรือน (เคยเป็นพระอุปัชฌาย์ที่วัดนี้)
        3. หลวงพ่อล่า (เป็นหมอผี หมอน้ำมนต์)
        4. พระอาจารย์อิ่ม (อาจารย์สอนวิปัสสนาและอาจารย์ธุดงค์)
5. หลวงพ่อทอง (พระครูสุทธิรัต)
6. หลวงพ่อลาว (มรณะแล้วไม่มีการเน่าเปื่อยที่ใดเลย)
7. พะอาจารย์บัว
8. พระสมุห์นิ่ม สมัยเป็นสามเณร

1. การปกครอง 
        ในสมัยหลวงพ่อถันเป็นเจ้าอาวาสนั้นได้แยกกันปกครองเป็นคณะ ๆ ไป คณะหนึ่งมีหัวหน้าคณะรูปหนึ่ง และรองหัวหน้าคณะอีกรูปหนึ่ง ถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นหัวหน้าคณะก็ตัดสินและรายงานให้เจ้าอาวาสทราบ ทั้งพระเณรตลอดทั้งเด็ก

1. พระครูพิพัฒนิโรธกิจ (หลวงพ่อปาน) กับพระอาจารย์อิ่มเป็นหัวหน้าคณะปกครองในเรื่องการสอนกัมมัฏฐาน และในเมื่อออกพรรษาก็นำพระไปอยู่ปริวาสแล้วออกธุดงค์ ท่านทำอย่างนี้เป็นประจำทุกปี เพราะว่าท่านได้อยู่คณะใหญ่
2. หลวงพ่อเรือนเป็นหัวหน้าคณะ ว่าในเรื่องสอนชีและอุบาสกอุบาสิกาทั่วไป
3. หลวงพ่อล่า เป็นหัวหน้าคณะ ว่าในเรื่องหมอผี หมอน้ำมนต์
4. หลวงพ่อถันเป็นเจ้าอาวาสด้วยเจ้าคณะด้วย ว่าในเรื่องปกครองทั่ว ๆ ไป ตลอดเรื่องเด็ก ขึ้นชื่อหลวงพ่อถันแล้ว รุ่นปู่ รุ่นตา ของข้าพเจ้าต้องสั่นเศียรไปตามกัน ว่าท่านดีจริง ๆ ไม่เลือกว่าจะเป็นลูกท่านหลานเธอทั้งนั้นในเมื่อมีความผิดแล้วต้องถูกเฆี่ยนไปตามกัน พระที่ดุหรือตีสมัยนี้ยังไม่ได้ครึ่งของหลวงพ่อถัน

2. การก่อสร้าง
        ในสมัยนี้นับได้ว่าขยายตัวขึ้นมาก เพราะว่าได้มีพระที่ทรงคุณวุฒิหลายรูป อาทิ เช่น หลวงพ่อปาน หลวงพ่อเรื่อน พระอาจารย์อิ่ม เป็นต้น ทุกองค์สามารถปกครองพระเณรตลอดอุบาสกอุบาสิกาได้เรียบร้อย ได้มีการก่อสร้างขึ้นหลายอย่าง เช่น พระอุโบสถ กุฏิ ศาลาการเปรียญ ทำสะพาน และวัตถุอื่น ๆ อีกหลายอย่าง วัดนี้ในสมัยท่านปกครองนับว่าได้ก้าวไปสู่ความเจริญมาก


3. การศึกษา
        มีการศึกษาพระวินัยขันธ์อย่างเดียว และเรียนพระกัมมัฏฐาน ตลอดสวดมนต์ ท่องพระปาฏิโมกข์เป็นของสำคัญมากในสมัยนั้น จึงทำให้พระที่อยู่ต้องได้พระปาฏิโมกข์มากองค์ และสวดมนต์ก็เก่ง เช่น เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ภาณยักษ์ ภาณพระ เป็นต้น ขึ้นชื่อว่าพระวัดมงคลโคธาวาสในสมัยนั้นแล้ว จะไปวัดใดแล้วต้องมีพระเกรงขามไปหมด ในเรื่องการสวดมนต์หรือพระปาฏิโมกข์ถ้าใครอยู่ถึง 3 พรรษา ไม่จบเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน หรือพระปาฏิโมกข์ นับว่าปัญญาทึบเต็มที
หลวงพ่อถันได้ปกครองวัดนี้อยู่เป็นเวลานาน พอดีหลวงพ่อปาน (พระครูพิพัฒนิโรธกิจ) ได้จัดการสร้างมณฑปขึ้น เพื่อจะเอาไว้ลอยพระพุทธบาทจำลอง พอการสร้างได้ดำเนินไปถึงขั้นใกล้จะเสร็จเรียบร้อย ก็มีพิธีทำการยกยอดมณฑปขึ้น แต่การทำงานใหญ่ ๆ โต ๆ ในสมัยนั้นถือกันว่ามักจะแรงสมภาร ถ้ายกคำลาการเปรียญ หรือพระอุโบสถตลอดยอดมณฑป สมภารต้องไปให้สุดเสียงกลอง แต่หลวงพ่อถันหาถือเช่นนั้นไม่ ท่านถือกรรมเป็นของสำคัญมากว่าฤกษ์ยาม นับว่าพอยกยอดชิ้นเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ป่วยทันที แต่ชาวบ้านก็เริ่มวิจารณ์ไปต่าง ๆ ว่ายกยอดแรงสมภาร พอดีโรคกายคือความชราของสังขาร ได้เข้ายึดร่างกายของท่านทันที แม้แต่หมอจะมียาดี ๆ ก็ไม่สามารถรักษาชีวิตของท่านได้ อาการป่วยของท่านเป็นลงรวดเร็วมาก ไม่ยอมให้หมอรักษาทั้งนั้น หมอจะวิเศษสักเพียงใดก็ต้องมรณะแน่ ๆ ท่านได้ภาวนาตลอดเวลา แล้วท่านได้สั่งพระเถระทั้งหมดว่าจงรักษาวัดนี้ไว้ให้ดี แล้วท่านได้มามรณภาพลงในท่ามกลางความอาลัยของภิกษุสามเณรตลอดอุบาสกอุบาสิกา ในสมัยหลวงพ่อถันเป็นเจ้าอาวาสอยู่นั้น นายกลัด บ้านคลองนางโหงเป็นมรรคนายก
ต่อมาบันดาพระเถระพร้อมไปด้วยอุบาสกอุบาสิกาและท่านที่มีเกียรติได้ประชุมปรึกษาหารือกันขึ้นว่า จะเห็นสมควรให้พระรูปใดปกครองวัดนี้ต่อไปแทนหลวงพ่อถัน แต่แล้วในที่ประชุมมีพระครูพิพัฒนิโรธกิจ (หลวงพ่อปาน) หลวงพ่อเลื่อน ตลอดพระอาจารย์อิ่ม พร้อมด้วยประชาชนได้อุปโลกให้พระอาจารย์ทอง ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของหลวงพ่อปาน ให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสในพระอารามนี้ต่อไป และพระอาจารย์ได้รับความสนับสนุนจากพระอุปัชฌาย์ คือหลวงพ่อปาน และพระกรรมวาจาคือหลวงพ่อเลื่อนเพราะว่าหลวงพ่อปานท่านไม่รับเป็นเจ้าอาวาส (หลวงพ่อปานนี้ ได้รับแต่งตั้งจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นพระอุปัชฌาย์ด้วย และสัญญาบัตรที่ พระครูพิพัฒนิโรธกิจ เพราะท่านมีดีหลายอย่าง เช่น สอนกัมมัฏฐาน และทางคงกระพันชาตรี ตลอดเวทย์มนต์คาถาต่าง ๆ

 

เหตุการณ์ในสมัยหลวงพ่อทอง (พระครูสุทธิรัต) เป็นเจ้าอาวาส

        หลวงพ่อทองรูปนี้ เป็นคนบ้านคลองนางโหง ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ท่านได้อุปสมบท 2 ครั้ง ๆ แรกได้ 3 พรรษา ครั้งหลังได้อุปสมบทที่วัดมงคลโคธาวาส ตำบลคลองด่าน หลวงพ่อปาน เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเลื่อนเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ในสมัยที่ท่านรักษาการเจ้าอาวาสอยู่นั้นเป็นผู้มีพรรษาน้อย แต่ทว่าอายุมากสักหน่อย แต่เป็นพระที่มีความรู้ดี ความฉลาดดี ความสามารถและปฏิบัติดี จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดนี้สืบมา ในสมัยที่ท่านปกครองอยู่นั้น

1. การปกครอง 
        ได้แยกปกครองเป็นคณะ ๆ เหมือนกับในสมัยหลวงพ่อถัน ถ้ามีเหตุอะไรเกิดขึ้นหัวหน้าคณะก็รายงานให้ผู้ปกครองทราบ และการปกครองเป็นไปโดยความเรียบร้อยดี เพราะว่ามีพระที่ทรงวิทยาคุณช่วยดูแลอีกทีหนึ่ง จึงทำให้พระเณรอยู่ในพระวินัยเป็นอันดี สมัยหลวงพ่อทองปกครอง มีพระที่เป็นเถระและทรงคุณวิทยาดังนี้


1. หลวงพ่อปาน พระอุปัชฌาย์
2. หลวงพ่อเลื่อน พระกรรมวาจาจารย์
3. พระอาจารย์อิ่ม
4. หลวงพ่อล่า
5. หลวงพ่อลาว
6. พระอาจารย์บัว เป็นต้น
 
 
2. การศึกษา 
        ได้เรียนพระวินัยขันธ์อย่างเดียว และเรียนกัมมัฏฐานจากหลวงพ่อปาน กับอาจารย์อิ่ม ต่อมามีการเรียนบาลี (ในสมัยนั้นเรียกกันว่าหนังใหญ่) เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2462 (ตามคำบอกเล่าของนามอั้นยาม่วง) ซึ่งเป็นศิษย์วัดในสมัยนั้น พระอาจารย์ทอง มาจากวัดบางชี้ช้างนอก สมุทรสงคราม เป็นครูสอนแต่นักเรียนรุ่นนี้ไม่ได้เข้าสอบบาลีเลย เพราะส่วนมากเป็นเด็กวัด พระเณรมีน้อย พระอาจารย์ทองสอนอยู่หลายปี แล้วลากลับบ้านเดิม การเรียนบาลีต้องหยุดลง
พอดีในสมัยนั้นสมเด็จพระมหาสมณะเจ้าท่านออกตรวจมณฑลภาคบูรพาตะวันออก ได้มาแวะตรวจที่วัดมงคลโคธาวาส และเห็นพระเณรตลอดศิษย์วัดมีความประพฤติเรียบร้อยดี จึงทรงพระกรุณาแต่งตั้งให้เป็นสัญญาบัตรที่พระครูสุทธิรัต พร้อมทั้งทรงแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์และเจ้าคณะแขวงบางบ่อ หลวงพ่อทองพอได้เป็นเจ้าคณะแขวงแล้วได้แต่งตั้งพระฐานานุกรม มีพระปลัดแวว พระสมุห์นิ่ม เป็นต้น
ครั้นต่อมาท่านพระครูสุทธิรัต เห็นว่าการศึกษาบาลีก็ได้หยุดลงไปแล้ว และการเรียนกำลังจะก้าวหน้า จึงได้ให้พระสมุห์นิ่ม สอนพระวินัยต่อไป ในเมื่อมีการเรียนขึ้นแล้วก็ต้องมีการสอน การสอบพระวินัยได้เปิดสอบครั้งแรกที่วัดมงคลโคธาวาส อำเภอบางบ่อ พระครูสุนทรสมุทร (จ้อย) เจ้าคณะจังหวัดกับพระอ้อย ได้นำปัญหามาจากจังหวัดมาเปิดสอบครั้งแรก พระเข้าสอบกันหลายรูป อาทิ พระครูชื่น ธมฺมโชติ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันนี้ และพระครูสริคุณาธาร (หลวงพ่อเป้า สิริสุวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดสุคันธาวาส ต่อมาก็มีวัดต่าง ๆ ได้ส่งพระเข้ามาเรียนกันมากขึ้น ครั้นต่อมาการเรียนนักธรรมก็ขยายตัวออกมาตามชนบท ท่านพระครูสุทธิรัตก็อยากจะให้มีขึ้นที่วัดบ้าง แต่ขาดครูสอนเพราะพระสมุห์นิ่มได้เริ่มป่วยลงเป็นโรคจิต แต่ชตาของวัดยังไม่สิ้น จึงทำให้พระดีรูปหนึ่งคือ พระช่วง น.ธ. โท มาจากวัดไตรมิตร มาเปิดสอนนักธรรมเป็นครั้งแรกของอำเภอนี้ เมื่อ พ.ศ. 2470 และได้ทำการสอบความรู้กันขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2470 โดยสอบรวมกับสำนักเรียนวัดราชบพิธ พระครูวิจิตรธรรมคุณ และครูอมร (ชั้น) เป็นผู้นำข้อสอบมาเปิดสนามสอบ

ในสมัยนี้พระที่ทรงวิทยาคุณได้มรณภาพไปหลายรูปอาทิ

1. หลวงพ่อปาน
2. หลวงพ่อเลื่อน
3. หลวงพ่อล่า
4. หลวงพ่อลาว
5. พระอาจารย์อิ่ม ไปมรณะที่เมืองหงสาวดี
6. พระอาจารย์บัว

 

 

        นับได้ว่าเสียพระที่เป็นเถระและทรงคุณวุฒิไปหลายรูป ทำให้วัดเงียบลงไปมากเหมือนกัน ต่อมาร่างกายของท่านพระครูสุทธิรัตได้เข้าสู่วัยชรา และได้อุปสมบทนายซัว ไว้เป็นคนสุดท้าย และท่านได้มรณภาพในปีนั้นเองด้วยโรคชรา ในความอาลัยอาวรณ์ของพระภิกษุสามเณร ตลอดอุบาสกอุบาสิกาในสมัย ที่ท่านพระครูสุทธิรัตปกครองอยู่นั้นได้หาครูมาหัดหนังสดขึ้นคณะหนึ่ง โดยเอาครูที่มาจากนาเกลือ โดยมาหัดเด็กวัด และท่านพระครูชอบมากกว่าการเล่นอื่น ๆ ทำให้หนังสดคลองด่านมีชื่อเสียงสืบมาจนปัจจุบันนี้ ในสมัยพระครูสุทธิรัต นายเซียว บ้านคลองนางโหง เป็นมรรคนายก

3. การก่อสร้าง ในสมัยพระครูสุทธิรัต มีดังนี้คือ

1. ได้จัดสร้างศาลาการเปรียญขึ้น
2. ได้จัดทำจุกชีในพระอุโบสถ
3. ได้จัดทำมณฑปหลังเก่าให้เรียบร้อย
4. ได้จัดสร้างวิหาร
5. ได้จัดทำกุฏิ (แต่คนส่วนมากถวายกับหลวงพ่อปาน)
6. ได้จัดหล่อรูปพระครูพิพัฒนิโรธกิจ (โยมเขียวจัดการ)
7. ได้จัดสร้างถังน้ำฝน
8. ได้จัดสร้างหอสวดมนต์ และศาลาหน้าวัด

 

 

เหตุการณ์ในสมัยพระครูสิริคุณาธาร (หลวงพ่อเป้า รักษาการเจ้าอาวาส)

        พระครูสิริคุณาธาร ในสมัยนั้นเป็นพระอาจารย์เป้า พระอาจารย์เป้ารูปนี้ เป็นคนบ้านท้องคุ้ง ตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ท่านได้อุปสมบทหลังจากรับราชการทหารแล้ว ได้อุปสมบทที่วัดมงคลโคธาวาส หลวงพ่อทอง (พระครูสุทธิรัตเป็นพระอุปัชฌาย์) ท่านได้ปกครองวัดนี้อยู่ 2 พรรษา และท่านได้ไป ๆ มา ๆ เพราะว่าท่านได้อยู่ที่วัดสุคันธาวาส แล้วท่านได้มอบกิจการงานภายในวัดให้กับพระปลัดแวว ดูแลแทนท่านอีกทีหนึ่ง ในเรื่องการก่อสร้าง ท่านได้สร้างกุฏิ 2 ชั้น ไว้หนึ่งหลัง การศึกษาได้มอบให้พระช่วง น.ธ. โท เป็นผู้สอน การสอบนั้นได้คงสอบอยู่ที่คลองด่าน วัดเริ่มจะทรุดตัวลง เพราะไม่มีเจ้าอาวาส และอีกประการหนึ่งพระเถระผู้ใหญ่ก็มรณภาพไปหลายรูป ขาดผู้นำที่จะชักจูงให้ดีได้ และท่านพระอาจารย์ก็มาลาออกจากการปกครองวัดมงคลโคธาวาส พร้อมกับลาออกจากผู้รักษาการเจ้าคณะแขวงบางบ่อ
ในสมัยพระอาจารย์ปกครอง มีพระที่ทรงคุณวุฒิ คือ

1. พระสมุห์นิ่ม ปิ่นอยู่ น้องชายหลวงพ่อสาย
2. หลวงพ่อผัน จนฺทสโร
3. หลวงพ่อสาย พุทธเสฏโฐ
4. พระปลัดแวว

        เพราะว่าพระที่วัดนี้เป็นพระหมอมาก เนื่องจากการสืบเนื่องมาจากหลวงพ่อปาน หลวงพ่อล่า และพระอาจารย์ดิส วัดบางสมัคร ลูกศิษย์ที่อยู่ในเวลานี้มีพระครูสิริคุณาธาร (หลวงพ่อเป้า) หลวงพ่อสาย เป็นต้น
 

 

เหตุการณ์สมัยปลัดแววเป็นเจ้าอาวาส

        ต่อมาพระปลัดแววซึ่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสอยู่ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. 2473 พระปลัดแววรูปนี้ เป็นคนเกิดที่จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ย้ายมาอยู่ที่ตำบลสองคลองตั้งแต่เล็ก ๆ ท่านได้อุปสมบทที่วัดมงคลโคธาวาส พระครูพิพัฒนิโรธกิจ (หลวงพ่อปานเป็นพระอุปัชฌาย์) หลวงพ่อทอง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านเป็นพระที่ใคร่ต่อการศึกษา เป็นพระที่มีความรู้ดี ฉลาดดี สามารถดีเป็นพิเศษ พระปลัดแวว ได้ปกครองวัดนี้อยู่ 4 พรรษา ก็มรณภาพ

        เหตุการณ์ในสมัยที่ท่านปลัดแววปกครอง การก่อสร้างไม่มี ได้มีแต่การซ่อมแซมเท่านั้น โดยมากมุ่งหลังคากุฏิ พระปลัดแววเป็นพระที่ใจดีต่อลูกศิษย์ และคนทั่ว ๆ ไปการศึกษาได้มอบให้พระผวล น.ธ. โท พระชั้น น.ธ. โท เป็นผู้สอน การสอบสนามบางบ่อ พระปลัดแววมีตำแหน่งเป็นเจ้าคณะ ตำบลคลองด่าน นับได้ว่าตั้งแต่พระครูสุทธิรัตมรณภาพ เจ้าคณะแขวง ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น ต่อมาพระปลัดมรณภาพลงอีก ตำแหน่งเจ้าคณะตำบลก็ได้ย้ายไปอยู่ที่วัดอื่น นับว่าวัดนี้ได้หมดเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลกันทีหนึ่ง สมัยพระปลัดแววปกครอง นายชื่น ปากอ่าวเป็นมรรคนายก พระปลัดแวว ได้มรณภาพ เมื่อ พ.ศ. 2477

 

เหตุการณ์สมัยพระครูชื่น ธมฺมโชติ เป็นเจ้าอาวาส

        ต่อมาพระอาจารย์ชื่น ธมฺมโชติ เป็นคนชาวบ้าน บางเพรียง ตำบลบางเพรียง อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นบุตรนายทรัพย์ นางเต่า เหมสมิติ ท่านได้อุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2456 พระครูกรุณาวิหารี (สาย) วัดราษกระบัง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ บุญ เป็นอนุสาวนาจารย์ อุปสมบทที่วัดบางเพรียง
        ในสมัยที่พระปลัดแวว มรณภาพใหม่ ๆ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ คือ พระญาณสมโพธิ์ (พระเทพสุธีองค์ปัจจุบัน) อยู่ที่วัดมหาธาตุ คณะ 3 ได้มาแต่งตั้งให้พระอาจารย์ชื่น ธมฺมโชติ เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาส เพราะแลเห็นท่านพระอาจารย์ชื่น เป็นพระที่เอางานเอาการ และมีความรู้ในทางก่อสร้างสามารถดี และปกครองดี ตลอดความประพฤติดี อายุพรรษาก็เป็นพระเถระได้แล้ว ที่จะปกครองวัดนี้ให้เจริญดีได้ เพราะว่าเมื่อพระปลัดแววได้มรณภาพลงแล้ว ของกลางสงฆ์ไม่มีอะไรมากนัก มีแต่ของส่วนตัวกันทั้งนั้น เพราะว่าวัดนี้มีพระเป็นเถระมาก ของของท่านแต่ละรูปจึงมีกันองค์ละมาก ๆ อาทิเช่น หลวงพ่อกวย หลวงพ่อหยิบ หลวงพ่อเผือก หลวงพ่อสาย หลวงพ่อเอี๊ยะ เป็นต้น ทุกองค์ต้องรักษากันทั้งนั้นจึงทำให้ของกลางไม่มีผู้ที่ถวายโดยมากเป็นศิษย์บ้าง ผุ้ที่คุ้นเคยบ้าง
พระอาจารย์ ชื่น ธมฺมโชติ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2479 และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระครูชั้นประทวน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2482 ต่อมาได้เป็นผู้รักษาการเจ้าคณะตำบลคลองด่าน ซึ่งพระอธิการเลี้ยง วัดสว่างอารมณ์ ลาอออก พระครูชื่นรักษาการอยู่ 3 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ถึง พ.ศ. 2491
1. การปกครอง
        นับได้ว่าในสมัยพระครูชื่น ธมฺมโชติเป็นเจ้าอาวาสนั้น พระภิกษุสามเณรในวัดนี้ ได้ขึ้นอยู่กับท่านโดยตรง ไม่ได้แยกกันปกครองเหมือนแต่ก่อนนั้น ได้แต่แยกกันฉันไปเป็นคณะ ๆ เท่านั้น มีคณะหลวงพ่อสาย คณะพระอาจารย์เอี๊ยะ คณะพระอาจารย์ทองใบ นารโท คณะหลวงพ่อกวย คณะหลวงพ่อหยิบ คณะพระชั้น ปุพฺพสุวณฺโณ ครูสอนนักธรรมเป็นต้น ได้ช่วยกันปกครองพระภิกษุสามเณรอีกทีหนึ่ง แต่การสวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น ได้ทำกันบนหอสวดมนต์

2. การก่อสร้าง
        ในชั้นต้นท่านพระครูชื่น ธมฺมโชติซ่อมแซมมากกว่าก่อสร้าง เพราะว่าที่วัดนี้เป็นวัดเก่ากุฏิและเสนาสนะก็ทรุดโทรมมาก ท่านได้ซ่อมปฏิสังขรณ์โดยไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อยแม้แต่ประการใดเลย สู้อาบเหงื่อต่างน้ำ ท่านมุ่งอย่างเด่ยวเท่านั้นให้วัดของท่านาเจริญเทียมทันบรรดาวัดทั้งหลายเขา แต่โดยมากที่วัดมงคลโคธาวาสนี้เป็นกุฏิมุงจากเป็นพื้น ท่านต้องออกหาเงินทุกปีมามุงกุฏิและปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดหักพัง เพราะว่าที่พระปลัดแววมรณะนั้นเงินของวัดไม่มีเลย และของกลางสงฆ์ก็เต็มทนท่านพระครุชื่น ธมฺมโชติ พร้อมพระภิกษุสามเณรที่อยู่ในอารามนี้ต้องช่วยกันทำเสนาสนะทุกอย่าง กำลังของพระครุชื่น ที่นับว่าสำคัญคือพระอาจารย์เอี๊ยะ และหลวงพ่อสาย แต่หลวงพ่อสายนับว่าเป็นกำลังสำคัญมากท่านได้ช่วยทั้งปกครองและก่อสร้างตลอดทั้งการเจ็บป่วย เพราะว่าท่านเป็นพระหมอมากไปด้วยเมตตา กิจการที่หลวงพ่อสาย พุทธเสฏโฐสร้างนั้น

 

กิจการที่พระครู ธมฺมโชติ ก่อสร้างมีดังนี้

1. กุฏิที่อยู่ของท่าน
2. พ.ศ. 2569 สร้างสะพานจากวัดเดินไปศาลา 
3. พ.ศ. 2501 สร้างศาลาท่าน้ำ
4. พ.ศ. 2501 สร้างสะพานหน้าศาลา และถนนคอนกรีตสายหน้าศาลาการเปรียญ 

1. พ.ศ. 2471 สร้างโรงเรียนประชาบาลขึ้น
2. พ.ศ. 2475 ได้สร้างกุดังเก็บศพ
3. พ.ศ. 2490 ได้สร้างมณฑบ (แต่ยังไม่สำเร็จเรียบร้อย)
4. พ.ศ. 2497 ได้จัดกุฏิย้ายให้เป็นแถว
5. พ.ศ. 2497 ได้จัดการซ่อมหอสวดมนต์ โดยพ่อสงวน แม่กี ทองประพาน ประตูน้ำปทุมวัน เป็นผู้จัดซ่อม ได้รับคำแนะนำจากหลวงพ่อสาย พุทธเสฏโฐ
6. พ.ศ. 2495 ได้จัดการปลูกโรงครัว
7. พ.ศ. 2486 ได้จัดสร้างโต๊ะเรียนนักธรรมขึ้น
8. พ.ศ. 2500 ได้จัดสร้างถนนคอนกรีตสายหน้ากุฏิ
9. พ.ศ. 2490 ได้จัดสร้างศาลาปลงศพ 
10. พ.ศ. 2493 ได้จัดการปลูกมะพร้าวหน้าวัด

 
        ในเรื่องการก่อสร้างนับได้ว่า สมัยพระครูชื่น ธมฺมโชติ เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบันนี้ การก่อสร้างไม่หนีกับสมัยท่านพระครูสุทธิรัต เป็นเจ้าอาวาสเลย และท่านพระครูชื่น กับพระอาจารย์เอี๊ยะ ได้ช่วยหลวงพ่อทองแกะหน้าบันศาลาการเปรียญ ด้านถนน ที่เป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑอยู่นี้ และการก่อสร้างอื่น ๆ อีกมากมายหลายอย่าง และของที่ใช้ในปัจจุบันนี้ เช่น เสื่อ หมอน โต๊ะหมู่ เก้าอี้ชุด ตลอดของใช้ทุกชนิดที่มีอยู่ในวัดปัจจุบันนี้


3. การศึกษา
        ได้เปิดเรียนนักธรรมขึ้นในระหว่างพรรษาทุก ๆ ปี พระที่เรียนนั้นนับว่าสบายกว่าวัดอื่น ๆ เพราะทางเจ้าอาวาส ได้จัดหาหนังสือ น.ธ. ตรี น.ธ. โท น.ธ. เอก ตลอดถึงหลักบาลีไวยากรณ์ เป็นต้น และสมุดดินสอ น้ำหมึกตลอดทั้งน้ำมันตามตะเกียงสำหรับดูหนังสือ ท่านพระครูชื่น ธมฺมโชติ เป็นพระที่มีความรู้น้อยก็จริงอยู่ แต่เป็นพระที่ใคร่ต่อการศึกษามาก ท่านเอาใจใส่ในเรื่องการศึกษาเป็นพิเศษในเรื่องพระบวชใหม่ ๆ แล้วท่านต้องให้เรียนนักธรรมทุกองค์ จะเป็นพระหนุ่มหรือพระแก่ก็ต้องเรียนทั้งนั้น ทำเอาบางคนไม่อยากจะบวชที่วัดนี้ กลัวท่องหลักนวโอวาท และหลักเรียนนักธรรม ครูที่สอนนักธรรมในสมัยท่านพระครูชื่น ธมฺมโชติ มีดังนี้คือ

1. พระชั้น ปุพฺพสุวณฺโณ สอนตั้งแต่ พ.ศ. 2477
2. นายซัว สอนตั้งแต่ พ.ศ. 2480
3. พระทองใบ นารโท สอนตั้งแต่ พ.ศ. 2473
4. พระมหาสอาด สอนตั้งแต่ พ.ศ. 2486
5. พระหยด ฐิตสิโล สอนตั้งแต่ พ.ศ. 2587
6. พระประเสริฐ กนฺธมฺโม สอนตั้งแต่ พ.ศ. 2484
7. พระจำปี ติกฺขปญฺโญ สอนตั้งแต่ พ.ศ. 2490
8. พระบุญชู รวิวํโส สอนตั้งแต่ พ.ศ. 2492
9. พระโพธิ์ ฐานุตฺตโม สอนตั้งแต่ พ.ศ. 2493 (พระครูสาธิตธรรมนาท)
10. เจ้าอธิการแป้น ปภากโร สอนตั้งแต่ พ.ศ. 2493 (พระอุปัชฌาย์)
11. พระทองย้อย ปญฺญาปทิโป สอนตั้งแต่ พ.ศ. 2494 (เป็นรองเจ้าอาวาสวัดมงคลโคธาวาส) 
12. พระแย้ม ปญฺญาวุฒฑฺโฒ สอนตั้งแต่ พ.ศ. 2494
13. พระเฉลิม จนฺทสโร สอนตั้งแต่ พ.ศ. 
14. พระสิน สิริภทฺโท สอนตั้งแต่ พ.ศ. 2499
และพระที่เป็นครูสอนองค์ปัจจุบันนี้ ได้แก่ พระอาจารย์ ทองย้อย ปญฺญาทิโป รองเจ้าอาวาสและพระสิน สิริภทฺโท การสอบในสมัยท่านพระครูชื่น ธมฺมโชติ ได้ไปสอบรวมที่วัดบางบ่อ และวัดนิยมยาตรา มีปี พ.ศ. 2496 ได้ย้ายมาสอบที่วัดมงคงโคธาวาส ปี พ.ศ. 2497 ก็ยังสอบที่วัดมงคลโคธาวาสได้สอบอยู่ 2 ปี แล้วย้ายไปสอบที่วัดบางบ่ออีกและสอบมาจนถึงปัจจุบันนี้
 

 

 
     
โดย : เอก บางขุนเทียน   [Feedback +0 -0] [+0 -0]   Mon 22, Oct 2012 01:38:59
 








 

เข้าชมวัตถุมงคลเพิ่มได้ที่ Facebook-เอก บางขุนเทียน..........(.TEL-08-91690084)

 
โดย : เอก บางขุนเทียน    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 1 ] Mon 22, Oct 2012 01:41:28





 

เหรียญดี พศ ลึก สวยมากครับ

 
โดย : Maverick    [Feedback +3 -0] [+4 -0]   [ 2 ] Sun 28, Oct 2012 10:48:29





 

นิมนต์แล้ว

 
โดย : เอก บางขุนเทียน    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 3 ] Tue 27, Nov 2012 00:40:33

 
เหรียญหลวงพ่อเป้า วัดสุคันธาวาส รุ่นแรก : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.