พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ
โชว์พระกรุทั่วไป

ไปชมโบราณวัตถุ และความเป็นมาของ เจดีย์ยุทธหัตถี กาญจนบุรี


ไปชมโบราณวัตถุ และความเป็นมาของ เจดีย์ยุทธหัตถี กาญจนบุรี


ไปชมโบราณวัตถุ และความเป็นมาของ เจดีย์ยุทธหัตถี กาญจนบุรี

   
 

 

      ก่อนหน้านี้ เราคงจะเคยได้ยินว่าในเมืองไทยมีเจดีย์ยุทธหัตถี อยู่ 2 แห่ง  แห่งหนึ่งคือที่ อ. บ้านตาก จ. ตาก นั้นเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี ที่เกิดขึ้น   ระหว่าง พ่อขุนรามคำแหง  แห่งกรุงสุโขทัย ทรงกระทำยุทธหัตถี ชนะขุนสามชน เจ้าเมืองฉอด  ส่วนที่ จ. สุพรรณบุรี ก็มีเจดีย์ยุทธหัตถี ที่ทุกคนรู้จักกันดีว่า ได้สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูน พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ได้ทรงกระทำยุทธหัตถีชนะ พระมหาอุปราชา แห่งกรุงหงสาวดี   แต่เมื่อหลัง พ.ศ. 2510 กว่าๆ ก็มีการค้นพบสถานที่ ที่น่าจะเป็นสถานที่ ที่ทรงกระทำยุทธหัตถี ที่แท้จริงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ ตำบล ดอนเจดีย์  อำเภอ  พนมทวน จ.กาญจนบุรี ขึ้นมาอีก เราท่านจึงควรทำความเข้าใจต่อ เรื่องราวว่า มีความเป็นมาอย่างไร และแม้แต่ในปัจจุบัน ก็ยังมีคนที่ไม่รู้ว่าที่กาญจนบุรี ก็มีเจดีย์ยุทธหัตถี ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับเขาด้วย 
 
     
โดย : อาทิตย์   [Feedback +0 -0] [+0 -0]   Thu 23, Aug 2012 19:35:16
 








 

รูปแรกของเจดีย์ยุทธหัตถี เมื่อสมัยก่อนการบูรณะครั้งแรก ส่วนรูปต่อมาคือเจดีย์ยุทธหัตถี ในปัจจุบัน

โปรดอย่าลืมว่า เมื่อเสร็จศึกสงครามในสมัยนั้น สถานที่นี้ก็เป็นป่าดงดิบดีๆนี่เอง  การสร้างในสมัยนั้นก็คงไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือสักเท่าใด ขนาดก็จะไม่ใหญ่โตนัก

 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 1 ] Thu 23, Aug 2012 19:43:05









 

โบราณวัตถุที่จัดแสดง จะเป็นเครื่องศาสตราวุธ เครื่องช้างศึก ม้าศึก หอก ดาบ ยอดฉัตร โกลนม้า ขอสับช้าง โซ่ล่ามช้าง แป้นครุฑจับนาค แป้นครุฑขี่สิงห์จับนาค โกร่งห้อยคอม้า และช้าง อีกทั้งลูกกะพรวนทองเหลืองสำหรับ ห้อยคอม้า  และช้าง

 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 2 ] Thu 23, Aug 2012 19:50:51









 

นี่ก็โบราณวัตถุ พวกเครื่องมือรบ กะดึงห้อยคอ ม้า ช้าง

รูปต่อมาคือ กระดูกกรามช้างที่เก็บอยู่ในศาลของสมเด็จพระนเรศวร  เห็นหลักฐานมากมาย อย่างนี้ ก็แสดงว่า ที่นี่น่าจะเป็น สถานที่กระทำยุทธหัตถีที่แท้จริง

 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 3 ] Thu 23, Aug 2012 20:01:10









 

รูปของศาล สมเด็จพระนเรศวร

  ส่วนเรื่องราวของเจดีย์ยุทธหัตถีที่กาญจนบุรี มีความเป็นมาอย่างไร ผู้ที่ชอบศึกษาประวัติศาสตร์ ลองดูข้อมูลต่อไนี้

 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 4 ] Thu 23, Aug 2012 20:08:26





 

 

          พงศาวดารไทยหลายฉบับมีบันทึกไว้ตรงกันว่า  เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ. 2135 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงกระทำ  ยุทธหัตถีกับ พระมหาอุปราชาแห่งกรุงหงสาวดี ซึ่งยกทัพมา จะตีกรุงศรีอยุธยา ในครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้ทรงฟัน พระมหาอุปราชา ด้วย พระแสงของ้าวจนขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์คาคอช้าง  จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ตรัสให้สร้างเจดีย์สถานขึ้น ณที่แห่งนั้น  เพื่อครอบพระศพ  พระมหาอุปราชาไว้ ณ ทุ่งตำบล ตระพังตรุนี้  ( บางท่าน อาจจะสงสัยว่า ตำบล พังตรุที่อยู่เลย อ. พนมทวน ขึ้นไปยัง ตลาดเขต - อ. อู่ทอง สุพรรณบุรี ราว  3 ก.ม. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ นั้นมีชื่อคล้ายๆกัน เป็นสถานที่เดียวกันหรือไม่  ที่จริงแล้ว ชื่อสถานที่นั้นคล้ายกันก็จริง แต่เป็นคนละสถานที่กัน กับ ตำบลตระพังตรุ ที่กล่าวมาแล้ว  ปัจจุบัน ตำบลตระพังตรุนี้ก็คือ ที่ๆเป็น บ้านดอนเจดีย์ อ.พนมทวน จ. กาญจนบุรี นี่เอง  และก่อนหน้านั้น สถานที่แห่งนี้เคย สังกัดขึ้นอยู่กับ จ. สุพรรณบุรี มาก่อน เพิ่งจะมาเปลี่ยนเป็น  มาขึ้นกับ จ. กาญจนบุรี ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ผ่านมานี้เอง )
             ส่วนในพงศาวดารพม่านั้น มีบันทึกแย้งกันไว้ว่า  เมื่อพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ลง  กองทัพพม่าก็เคลื่อนทัพ เข้ากันพระศพไว้ แล้วนำกลับไปยัง  กรุงหงสาวดีไม่ได้ถูกครอบอยู่ในเจดีย์อย่างที่พงศาวดารไทยกล่าว อย่างไรก็ดี หลังจากทรงมีชัยชนะในการกระทำยุทธหัตถีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรมหาราช   ได้ทรงรับสั่งให้สร้างเจดีย์ขึ้น ณ สถานที่ ทรงกระทำยุทธหัตถี  และเมื่อเสด็จกลับกรุงศรีอยุธยาก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ใหญ่ขึ้นอีกองค์ ที่วัดป่าแก้ว
  (นามเดิมคือวัดเจ้าพระยาไทย) ซึ่งปัจจุบันก็คือวัดใหญ่ชัยมงคลในปัจจุบันนั่นเอง 
              ส่วนเจดีย์ที่สร้างขึ้น ณ สถานที่ทรงกระทำยุทธหัตถีนั้นถูกทอดทิ้งอยู่ในป่า นับเป็นเวลาถึงปัจจุบันก็ราว 400 ปี  หลังจากการศึกในครั้งกระโน้น ต้นไม้ก็กลับมาขึ้นหนาจนรกทึบ จึงยากที่จะมีผู้คนผ่าน นานเป็นร้อยๆปี เรื่องราวจึงไม่มีผู้คนกล่าวถึงว่า  มีเจดีย์เก่าอยู่ที่นี่
 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 5 ] Thu 23, Aug 2012 20:13:54





 

 

                    ก่อนจะเข้าสู่เรื่องราวของเจดีย์ยุทธหัตถี ที่กาญจนบุรี เพื่อป้องกันการสับสนในภายหลัง ต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า บางชื่อของสถานที่ในเหตุการณ์ของเมื่อครั้งกระโน้น  กับในสมัยปัจจุบันไม่ได้เป็นสถานที่เดียวกัน บางสถานที่ แม้แต่ในจังหวัดเดียวกัน  ก็มีชื่อสถานที่ซ้ำๆกัน  ดังนั้นคงต้องมาดู แผนที่ที่พม่าเดินทัพ และคำอธิบายประกอบ  เพื่อทำความเข้าใจว่าสถานที่แห่งใดตั้งอยู่ส่วนไหนของจังหวัด ดังต่อไปนี้
              อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า ตำบลตระพังตรุ ในครั้งกระโน้น ก็คือบริเวณ บ้านดอนเจดีย์  อ. พนมทวน จ. กาญจนบุรี ในปัจจุบัน แต่ปัจจุบัน  ชื่อตำบล  ตระพังตรุไม่มีแล้ว   ในสมัยก่อนทั้งตำบลตระพังตรุ และตัวอำเภอพนมทวน ล้วนขึ้นตรงต่อ จ. สุพรรณบุรี ทั้งๆที่อยู่ใกล้กับตัวเมืองกาญจนบุรีเก่า ซึ่งอยู่ที่  ท่าเสา - เขาชนไก่ ในปัจจุบันมากกว่า จนในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงได้มีการย้าย อ. พนมทวนมาสังกัดขึ้นกับ จ. กาญจนบุรี
              ตำบลหนองสาหร่าย  ชื่อนี้แม้ใน จ. นครปฐม จ. กาญจนบุรี และอีกหลายๆจังหวัดก็มีตำบลชื่อนี้  อีกทั้งบ้านหนองสาหร่าย อำเภอ พนมทวน จังหวัด กาญจนบุรี ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของเจดีย์ยุทธหัตถีราว 3 - 4 ก.ม. ซึ่งเป็นเขตติดต่อกับ ต. พังตรุ และ ต. หนองลาน ก็เป็นคนละสถานที่กันกับ   หนองสาหร่าย ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงตั้งค่ายพลดักทัพพม่า ซึ่งตำบลหนองสาหร่ายตามพงศาวดารนั้น อยู่เลยตำบลดอนเจดีย์ อ. พนมทวนปัจจุบัน  ขึ้นไปทาง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ตามลำน้ำทวน ซึ่งไหลจากเทือกเขาตอง จ. กาญจนบุรี ผ่านดอนเจดีย์ - พนมทวนแล้วผ่านหนองสาหร่าย ที่อยู่ใกล้กับ  หนองกะลา  ก่อนจะถึงเขาน้อย และหนองลาดบัวใหญ่ - หนองลาดบัวน้อย ต. รางหวาย ไปลงที่ลำน้ำจรเข้สามพัน ที่ อ. อู่ทอง และสถานที่นี้ยังอยู่ในเส้นทางเดินทัพของพม่าโดยปกติอีกด้วย                   
         
 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 6 ] Thu 23, Aug 2012 20:26:11





 

 

                    ในปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้ทรงมี พระราชดำริที่จะค้นหาเจดีย์ยุทธหัตถี ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ
  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้รับสั่งให้พระยากาญจนบุรี (นุช)  เจ้าเมืองในสมัยนั้นค้นหาเจดีย์เก่าที่น่าจะเป็นเจดีย์ยุทธหัตถีนี้ ที่ตำบลตระพังตรุ แต่เนื่องมาจากว่า เจ้าเมืองกาญจนบุรีในสมัยนั้นไม่ค่อยกระตือรือล้นในการที่จะออกค้นหาสักเท่าใดนัก ในการที่จะหักล้างถางพงเข้าค้นคว้า เพราะในสมัยนั้น  กาญจนบุรีเป็นป่าดงดิบ ไม่ได้เป็นทุ่งนาโล่งๆ มีถนนตัดผ่าน บ้านเรือนผู้คนก็แทบไม่มี เฉกเช่นทุกวันนี้ ในที่สุดเจ้าเมืองก็มีใบบอกทางกรุงเทพไปว่า ที่กาญจนบุรีนั้นค้นไม่พบเจดีย์ยุทธหัตถี
                   ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6  พระยาปริยัติธรรมธาดา ( แพ ตาละลักษณ์ ) เมื่อครั้งยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ  ได้นำสมุดเก่าเล่มหนึ่ง มาถวาย  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ แล้วกราบทูลให้ทรงทราบว่า ได้พบหญิงชราคนหนึ่งกำลังนำสมุดเก่าๆเล่มหนึ่งใส่กระชุ  จะเอาไปเผาไฟ  เมื่อขอค้นดู ก็พบว่าในสมุดเล่มนี้มีบันทึกเรื่องราวสำคัญในประวัติศาสตร์ไว้หลายเรื่อง ซึ่งต่อมา  กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้พระราชทานนาม สมุดเล่มนี้ว่า  “พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ”  ซึ่งนอกจากพงศาวดารฉบับนี้จะบันทึก วัน เดือนปี และเรื่องราวต่างๆในประวัติศาสตร์ไว้อย่างแม่นยำเหนือ   พงศาวดารเล่มอื่นใดแล้ว ยังได้บันทึกไว้ว่า พระมหาอุปราชาทรงมาตั้งทัพที่บ้านตระพังตรุ  แล้วมาทรงกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ตำบล หนองสาหร่าย  ซึ่งพงศาวดารฉบับอื่นกลับระบุตรงกันว่า  สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีที่ตำบล ตระพังตรุ 
                   เมื่อเป็นเช่นนี้   นักประวัติศาสตร์บางคนก็เลยเคลือบแคลงสงสัยว่า พงศาวดารฉบับนี้จะเป็นของที่จัดทำขึ้นมาใหม่ เพื่อหวังผลอะไรสักอย่าง
                   เมื่อพงศาวดารฉบับนี้ได้ระบุไว้ว่า การทำยุทธหัตถีมีขึ้นที่ตำบลหนองสาหร่าย และค้นไม่พบเจดีย์ยุทธหัตถีที่กาญจนบุรี  อีกทั้งก่อนสมัยรัชกาล
  ที่ 3 ตำบลตระพังตรุนี้เคยสังกัดขึ้นกับ จ. สุพรรณบุรีมาก่อน  ดังนั้นกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ก็เลยทรงเบนเข็มมุ่งไปที่ จ. สุพรรณบุรี แทน โดยได้รับสั่ง
 ให้พระยาสุพรรณบุรี (อี้ กรรณสูต) ไปสืบเสาะดูใน จ. สุพรรณบุรี ว่ามีตำบลชื่อหนองสาหร่ายไหม ถ้ามีก็ให้ไปสืบค้นดูว่า  จะพบเจดีย์ที่มีลักษณะที่น่าจะเป็น
  เจดีย์ยุทธหัตถีหรือไม่ 
                ไม่ถึง 1 เดือน พระยาสุพรรณบุรี  ก็มีใบบอกกลับมาว่าได้พบเจดีย์อยู่ในป่าทางทิศตะวันตกของตัวเมือง  ซึ่งชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันว่า   ดอนเจดีย์ ตอนที่เข้าไปมีชาวบ้านมาช่วยกันหักล้างถางพงเข้าไป พร้อมกันนั้นก็ได้ถ่ายรูปมาถวายด้วย  ซึ่งเมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทอดพระเนตร  แล้วก็ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “โบราณคดี” ว่า  “พอฉันได้เห็นรายงาน  และรูปฉายที่พระยาสุพรรณบุรีส่งมาให้ก็สิ้นสงสัย รู้ว่าพบพระเจดีย์ยุทธหัตถีเป็นแน่แล้ว มีความยินดีแทบเนื้อเต้น  รีบนำความขึ้นกราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว”
                 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงยกขบวนเสือป่า กองพลหลวงรักษาพระองค์และทหารมหาดเล็ก ทรงรอนแรมจาก
  พระราชวังสนามจันทร์ จ. นครปฐมไปถึงองค์เจดีย์ ในวันที่ 27 มกราคม 2456 แล้ว ทรงบวงสรวงต่อดวงวิญญาณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในเช้า
  วันรุ่งขึ้น และได้ทรงดำริที่จะเสริมองค์พระเจดีย์ใหม่  แต่เศรษกิฐในยามนั้นตกต่ำมาก ประจวบเหมาะกับในเวลาต่อมาไม่นานนักก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1
  ขึ้นอีกด้วยในยุโรป  โครงการก่อสร้างนี้จึงต้องระงับเอาไว้ก่อน
 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 7 ] Thu 23, Aug 2012 20:35:14









 

 

รูปพระปรางค์ที่ สันนิษฐานว่า เป็นพระปรางค์ที่ใช้ครอบพระศพ ของพระมหาอุปราชา เมื่อสิ้นพระชนต์ลง
                 เจดีย์ยุทธหัตถีถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกที  ก็ในสมัยปลายยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยเรี่ยไรเงินจากประชาชน และกองทัพมาสนับสนุนการสร้าง
  เจดีย์ครอบเจดีย์องค์เดิม  แล้วเสร็จในสมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์  และทำพิธีเปิดในวันที่ 20 มกราคม 2502
                     ด้วยเหตุนี้นี่เอง เจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จึงมีปรากฏเป็นครั้งแรกอยู่ที่ ต. ดอนเจดีย์ อ. ดอนเจดีย์ จ. สุพรรณบุรี ทั้งๆที่ แต่เดิมที่นี่  เคยเป็นบ้านดอนทำพระ ตำบล บางงาม อ. ศรีประจันต์ มาก่อน
                     แม้ว่าทางราชการและกรมศิลปกรจะออกมายืนยันแล้วว่า เจดีย์ยุทธหัตถี ที่ จ.  สุพรรณบุรี เป็นของแท้แน่นอน  แต่ก็มีนักประวัติศาสตร์ และ
  นักวิชาการออกมาให้ความเห็นว่าเป็นการ  “ด่วนสรุปที่ง่ายจนเกินไป” เพราะยังมีเจดีย์โบราณ ที่เอียงจนคดงอที่ ต. ดอนเจดีย์ อ.พนมทวน จ. กาญจนบุรี
  อีกองค์หนึ่งที่ชาวบ้านละแวกนั้น มีความเชื่ออย่างสนิทใจกันว่า เป็นเจดีย์ยุทธหัตถีแท้จริง  ที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงสร้างใน บริเวณที่ทรงกระทำ
  ยุทธหัตถี เพราะมีสภาพแวดล้อม  และหลักฐานหลายอย่าง ปรากฏสนับสนุนให้เป็นที่น่าเชื่อถือยิ่ง                             
                     ท่านผู้เฒ่า 2 คน ซึ่งเฝ้าอยู่บนศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ข้างวงเวียนเคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา  บนผิวดินมีแต่กระดูกของ
  คน และช้างม้ากราดเกลื่อนไปทั่วทั้งบริเวณ เหมือนไม่มีการกลบฝัง ตายก็ปล่อยให้เน่าผุพังอยู่ในสภาพนั้น และที่พระปรางค์ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางหลังศาล ก็
  มีกระดูกกองใหญ่อยู่ที่นั่น เหมือนกับว่ามีผู้รวบรวมเอาไปไว้ที่นั่น  และนอกจากนั้นก็ยังพบเครื่องศาสตราวุธ เครื่องช้างศึก ม้าศึก หอก ดาบ ยอดฉัตร โกลน
  ม้า ขอสับช้าง โซ่ล่ามช้าง แป้นครุฑจับนาค แป้นครุฑขี่สิงห์จับนาค โกร่งห้อยคอม้า และช้าง อีกทั้งลูกกะพรวนทองเหลืองสำหรับ ห้อยคอม้า  และช้าง ซึ่งไม่
  ต้องสงสัยเลยว่า สถานที่นี้ต้องเคยเป็นสถานที่ทำสงครามครั้งใหญ่มาก่อน
 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 8 ] Thu 23, Aug 2012 20:42:38





 

 

                   นอกจากนี้ก็ยังมีเหตุผลสนับสนุนอีกหลายอย่าง เช่นชื่อสถานที่ในพงศาวดารระบุไว้  ล้วนมีอยู่ใน อ. พนมทวน จ. กาญจนบุรี แทบทั้งสิ้น ใน
  พงศาวดารทุกฉบับล้วนระบุตรงกันว่า พระมหาอุปราชาตั้งทัพอยู่ที่ตระพังตรุ  ส่วนสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ทรงตั้งค่ายพลอยู่ที่หนองสาหร่ายแล้วไป
  กระทำยุทธหัตถี ที่ตระพังตรุ มีแต่พงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฉบับเดียวบอกว่า ทรงกระทำยุทธหัตถี ที่หนองสาหร่าย  ถ้าหากเชื่อตามพงศาวดารฉบับ
  หลวงประเสริฐแล้วมาคิดตามด้วยเหตุผลว่า  
                     ถ้าเป็นตำบลหนองสาหร่ายของ อ. พนมทวน  จ. กาญจนบุรี ซึ่งห่างจากตระพังตรุราว 16 – 17 ก.ม. ในวันที่กระทำยุทธหัตถีนั้น อากาศค่อน
  ข้างหนาวเหน็บ  จนช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เกิดตกมัน และได้กลิ่นช้างข้าศึก ซึ่งระยะทางแค่นั้นช้างทรงที่ตกมันจะใช้เวลาประมาณชั่วโมง
  กว่า ก็จะวิ่งมาถึงตำบลตระพังตรุ สถานที่พระมหาอุปราชาประทับช้างรออยู่ใต้ต้นข่อยแล้ว จากนั้นจึงเกิดการท้า ให้พระมหาอุปราชาออกมาทำยุทธหัตถีกัน
  เหตุการณ์นี้มีความเป็นไปได้สูง จึงไม่มีอะไรน่าสงสัย
                     แต่กลับกัน  ถ้าเป็น ตำบล หนองสาหร่าย  จ. สุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากตำบล ตระพังตรุออกไปทาง จ. สุพรรณบุรี 90 กว่า ก.ม. ถ้าเดินทาง
  ด้วยช้างก็กินเวลาเป็นวัน  การที่ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จะตกมันแล้ววิ่งเตลิดไปโดยลำพัง  กับช้างทรงของสมเด็จพระเอกาทศรศ จาก
  หนองสาหร่าย สุพรรณบุรี วิ่งเข้าหาช้างพม่าที่ตระพังตรุ คงใช้เวลาเป็นวัน และไกลขนาดนั้นช้างก็คงไม่มีทางได้กลิ่นกันเป็นแน่ จึงเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็น
  ไปได้
                     เหตุผลอีกประการหนึ่ง ที่บ่งชี้ว่า การกระทำยุทธหัตถีในครั้งนั้น ไม่น่าจะไปเกิดที่ดอนเจดีย์ จ. สุพรรณบุรีก็คือ  ในพงศาวดารทุกเล่มระบุตรง
  กันไว้ว่า กองทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตามมาทันเมื่อพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์พอดี  ทหารไทยจึงไล่ฆ่าทหารพม่าซึ่งกำลังเสียขวัญกันอย่าง
  มันมือเป็นจำนวนร่วม 20,000 คน ไล่ล่ากันจากสถานที่กระทำยุทธหัตถี  ซึ่งถ้าเป็นที่ตระพังตรุไปถึงเมืองกาญจนบุรีเก่าซึ่งมีระยะห่างออกไปราว 17 ก.ม.
  จับได้ช้างศึกสูง 6 ศอก 300 เชือก ช้างพลายพัง 500 เชือก ม้าศึกอีก 2000 กว่าตัวภายในวันเดียวนั้น ฟังดูแล้วไม่มีอะไรน่าสงสัย เรื่องราวน่าจะเกิดขึ้นจริง
  ตามที่พงศาวดารระบุไว้
                    แต่หากถ้า การกระทำยุทธหัตถีนั้นไปเกิดขึ้นที่ดอนเจดีย์ จ. สุพรรณบุรี ลองคิดดูว่าทหารไทยจะต้องไล่ล่าทหารพม่า  มาจนถึงกาญจนบุรีซึ่งอยู่ห่างกันราว 100 กว่า ก.ม. จะต้องใช้เวลาไล่ล่ากี่วัน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ตามที่พงศาวดารระบุ 
 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 9 ] Thu 23, Aug 2012 20:47:46





 

 

                ไม่เพียงแค่นั้น ข้อน่าสงสัยอีกอย่างก็คือ เมื่อพม่ายกทัพมาจะมาตีกรุงศรีอยุธยา  ก็กรีฑาทัพเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ข้ามลำน้ำที่สามสบ
  สังขละบุรี ผ่านท่าดินแดง ท่าขนุน  (ทองผาภูมิ) โดยเลียบลำน้ำแควน้อยมาทางฝั่งทิศตะวันตก เพราะเป็นที่ราบ ( ทางทิศตะวันออก ลำน้ำอยู่ชิดเขา ไม่มีพื้น
  ที่ราบให้เคลื่อนพล )  จากนั้นทัพพม่าจะมาข้ามลำแควน้อยที่ผาอ้น  แล้วเข้ามาตีเมืองไทรโยค เมื่อตีไทรโยคได้แล้ว จะเดินทัพมาเข้าช่องทับศิลา มาออก
  ช่องกระทิง ใกล้บริเวณที่เป็นเขื่อนท่าทุ่งนา ในปัจจุบัน จากนั้นจะมาข้ามลำน้ำแควใหญ่ที่ท่าด่าน แล้วเข้าตี เมืองกาญจนบุรีเก่า ที่บ้าน ท่าเสา เขาชนไก่ ใน
  ปัจจุบัน เมื่อตีเมืองได้แล้วก็เดินทางผ่าน ปากแพรก ( ตัวเมืองกาญจนบุรีปัจจุบัน ) และเลี้ยวมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อตัดตรงไปยังพนมทวน โดยตัดผ่าน
  บ้านหนองขาว  แล้วมาหยุดพักไพร่พลอยู่ที่ ตำบลตระพังตรุ เสียก่อน  หลังจากนั้นจึงจะเดินทางผ่าน อู่ทอง สุพรรณบุรี ไปยัง อ. ป่าโมก จ.  อ่างทอง เพื่อเข้า
  ตีกรุงศรีอยุธยาต่อไป แต่เนื่องจากสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าวว่าพม่ายกทัพมา   พระองค์จึงเคลื่อนพล ยกทัพไทยออกจากกรุงศรีอยุธยา มาตั้ง
  ค่ายรี้พลขัดตาทัพพม่า อยู่ที่ ตำบล หนองสาหร่าย ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นปากทาง และยังอยู่ในเส้นทางบังคับในการเคลื่อนทัพของพม่า ที่จะยกทัพไปเพื่อตี
  กรุงศรีอยุธยาโดยปกติ  ซึ่งถึงอย่างไรเสียกองทัพพม่าก็ต้องมุ่งหน้ามาทางนี้  ไม่มีโอกาสคลาดกันเด็ดขาด  
               กลับกัน ถ้าเรามาพิจารณาดูบ้างว่า ถ้าไม่ใช่หนองสาหร่ายที่พนมทวน กาญจนบุรี แต่เป็น ตำบล หนองสาหร่าย ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของ อำเภอ
  ดอนเจดีย์ จ. สุพรรณบุรี ขึ้นไปอีก และอยู่นอกเส้นทางเดินทัพโดยปกติของพม่า กว่า 30 ก.ม.  ที่พม่าจะต้องเคลื่อนพลจากกาญจนบุรี ผ่านพนมทวน ไปยัง
  อู่ทอง - สุพรรณบุรี แล้วมุ่งหน้าไปยัง อ. ป่าโมก จ. อ่างทองเพื่อตัดลงไปตี กรุงศรีอยุธยา  ซึ่งก็ไม่มีเหตุผลอื่นใดที่สามารถอธิบายได้สมเหตุสมผลว่า พม่ามี
  จุดประสงค์ใด ที่จำเป็นต้องเคลื่อนพลขึ้นไปสู่ ดอนเจดีย์ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก ของเส้นทางเดินทัพโดยปกติไกลขนาดนั้น  และก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่กองทัพ
  ของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะไปตั้งค่ายพล อยู่นอกเส้นทางเดินทัพโดยปกติของพม่า  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น จุดมุ่งหมายในการไปสกัดทัพพม่าไว้ไม่ให้ไป
  ตีกรุงศรีอยุธยา ก็อาจจะเกิดการผิดพลาดขึ้น หากพม่ากรีฑาทัพมาตามเส้นทางปกติ  เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็น่าจะวิเคราะห์ได้ว่า การกระทำยุทธหัตถีในครั้งกระนั้น
  ไม่น่าจะไปเกิดขึ้นที่ ตำบลดอนเจดีย์ จ. สุพรรณบุรี ซึ่งที่จริงแล้ว ก่อนหน้าที่จะเป็นดอนเจดีย์นั้น สถานที่นั้นถูกเรียกว่า ดอนทำพระ  ของ อ. ศรีประจันต์
  มาก่อน
                   ข้อสังเกตอีกประการก็คือ  ในการกรีฑาทัพยกพลรบไปยังที่ใดก็ตาม  ไม่ว่าจะเป็นทัพไทย หรือทัพพม่า ซึ่งมีจำนวนคน เป็นพัน เป็นหมื่น หรือ
  อาจเป็นจำนวนแสน ในการยกพลไปนี้ ระหว่างทาง ทั้งพลรบ ช้างและม้าจะต้องใช้น้ำดื่มกิน หุงหาอาหาร ดังนั้นในการยกพลไปที่ใดก็ตาม  ตลอดทางจะต้อง
  อาศัยลำน้ำเป็นหลัก ตอนเข้ามาถึงสามสบ แล้วลงมาตีเมืองกาญจนบุรีเก่า ก็ยกพลเลียบมาตามแม่น้ำแควน้อย  และแม่น้ำแควใหญ่ เมื่อตีได้แล้วก็ยกพลผ่าน
  ปากแพรก มุ่งไปยังพนมทวน อู่ทอง และสุพรรณบุรี ก็เคลื่อนพลเกาะลำน้ำทวนมา  ซึ่งลำน้ำทวนนี้ไหลลงมาจากเขาตอง บริเวณปากแพรก ผ่าน ตระพังตรุ
  พนมทวน ผ่านหนองสาหร่ายที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกพลไปขัดตาทัพรอพม่าอยู่ที่นั่น แล้วลำน้ำทวนก็ไหลไปยังอู่ทอง ไปลงลำน้ำจระเข้สามพัน ที่
  นั่น ซึ่งก็สมเหตุสมผลด้วยหลักในการเคลื่อนพลของทั้งสองฝ่ายทุกประการ
                 และถ้ามาคิดดูว่า เมื่อทัพพม่าเดินทางผ่าน อ. พนมทวน แล้วแทนที่ต่อไปจะต้องมุ่งหน้ายกพลผ่าน จรเข้สามพัน ที่ อู่ทอง จากนั้นมุ่งตรงไปยัง
  ป่าโมก อ่างทอง เพื่อเข้าตีกรุงศรีอยุธยาต่อไปเหมือนการเดินทัพโดยปกติเหมือนครั้งที่แล้วๆมานั้น ทำไมในครั้งนี้ทัพพม่าจะต้องกรีฑาทัพตัดขึ้นไปทาง
  ทิศตะวันตกเพื่อไปที่ดอนเจดีย์ หรือที่หนองสาหร่าย จ. สุพรรณบุรี ทั้งๆที่ระหว่างทางจากพนมทวนขึ้นไปยัง ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรีนั้นไม่มีลำน้ำ ให้ไพร่พล
  ได้ใช้ดื่มกินกลางทางอีกด้วย หรือว่าทัพพม่าจะมีจุดประสงค์อื่นใด ยิ่งคิด  ก็ยิ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยในความไม่สมเหตุสมผลมากขึ้นอีกว่า  เป็นไป
  ไม่ได้เลยที่การกระทำยุทธหัตถีจะไปเกิดขึ้นที่ ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี
 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 10 ] Thu 23, Aug 2012 20:52:16









 

 

   รูปหล่อ สมเด็จพระนเรศวร ที่ในศาล
      อีกทั้งในพงศาวดารฉบับ “วัน – วลิต” มีระบุไว้ว่า ชาวฮอลันดาที่เข้ามาค้าขาย ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเขียนระบุไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาที่ใกล้วัดร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งที่พนมทวน ตำบลตระพังตรุ ห่างพระเจดีย์ยุทธหัตถีไปราว 1.5 ก.ม.  ก็มีวัด ชื่อวัดน้อย ซึ่งมีโบสถ์ และพระเจดีย์อยู่ในปัจจุบัน        บริเวณเจดีย์ยุทธหัตถีแห่งนี้เป็นพื้นที่ดินดอน เต็มไปด้วยกรวดทราย  หมู่บ้านที่อยู่ติดกับเจดีย์ก็มีชื่อว่า หมู่บ้านหลุมทราย ดังนั้นเมื่อบริเวณนี้ส่วนใหญ่เป็นดินทราย  เรื่องที่อาจเกิดพายุพัดกรวดทรายจนฝุ่นผงธุลีดินฟุ้งกระจายจนมืดมิด  ตามบรรยากาศในวันกระทำยุทธหัตถี ตามที่พงศาวดารระบุไว้ก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกแต่อย่างใด
       
 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 11 ] Thu 23, Aug 2012 20:59:25





 

 

                  รูปนี้ถ่ายเมื่อ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้า                                         ลูกยาเธอ เจ้าฟ้าหญิงสิรินทรเทพรัตนสุดา  และเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ทรงเสด็จฯทอดพระเนตร  องค์พระเจดีย์ยุทธหัตถี ปรางค์ประธาน และกลุ่มเจดีย์โบราณที่ดอนเจดีย์แห่งนี้
         น. ณ. ปากน้ำ หรือ ประยูร อุลุชาฎะ  นักโบราณคดี-นักเขียน-ศิลปินแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป  (จิตรกรรม) พ.ศ. 2535 และ ศิลปดุษฏีบัณฑิตกิติมศักดิ์ มหาวิทยาลัย ศิลปกร พ.ศ. 2525 ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ข้าพเจ้าขอยืนยันว่า เจดีย์ และกลุ่มเจดีย์ที่ดอนเจดีย์ อ. พนมทวน จ. กาญจนบุรีนี้คือ เจดีย์ยุทธหัตถีที่แท้จริง และเอาเกียรติยศ จากการที่ได้ศึกษาศิลปมาอย่างจำเจที่สุดเป็นประกัน..”
               อนึ่ง ตำบล หนองสาหร่าย ไม่ว่าจะเป็นที่ จ. กาญจนบุรี หรือที่ จ. สุพรรณบุรี ก็ตาม ในปัจจุบัน ไม่มีสภาพเป็นบึงหนองที่มีน้ำอยู่อย่างเช่นในสมัย
 โบราณอีกแล้ว  ภูมิทัศน์จะเต็มไปด้วยบ้านเรือนผู้คน  ทาวเฮ๊าส์ กันไปหมดแล้ว
               เรื่องที่แปลกประหลาดอีกประการหนึ่งก็คือ   ในบริเวณที่น่าจะเป็นสมรภูมิรบในครั้งกระโน้น  เป็นที่รู้กันดีสำหรับชาวบ้านในละแวกนั้นว่า  เต็ม
 ไปด้วยงูเหลือม และงูหลามมากมายมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย อพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี้แล้ว  ตามปกติของงูเหลือม และงูหลามนั้นจะเป็นสัตว์ที่กินสัตว์เล็ก
 สัตว์น้อยเป็นอาหาร  บางทีทรากสัตว์ที่ตายแล้วก็เป็นอาหารของงูพวกนี้เช่นกัน  ดังนั้นจึงมีผู้สันนิฐานกันว่า  ถ้าในสมัยโน้นมีสงครามเกิดขึ้นที่นี่จริง  ก็คงมี
 ซากศพจำนวนมากมาย  หลงเหลือไว้ให้เป็นอาหารของงู และสัตว์อื่นๆที่หากินอยู่บริเวณนี้ อาศัยกินเป็นอาหารได้อย่างอิ่มหมีพีมัน  ออกลูกแพร่พันธุ์ กันมา
 เป็นเวลาเนิ่นนานแล้ว
                        สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบพระคุณ คุณน้ำฝน ทองอินทร์ วิทยากร ของพิพิธภัณฑ์พระราชประวัติ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่กรุณาให้ข้อมูล
 เพิ่มเติมมา ณ. ที่นี้ด้วย
 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 12 ] Thu 23, Aug 2012 21:09:39

 

            กะทู้ ตามรอยพระท่ากระดาน กรุหนองอีจาง ที่วัดหลวง ราชบุรี มีข้อมูลของรูปพระท่ากระดานวัดหลวงย้อนยุค ที่จัดสร้างเมื่อปี 2536 มาให้ได้ชมกัน ตามลิ๊งค์นี้

http://pralanna.com/boardpage.php?topicid=32024

 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 13 ] Thu 23, Aug 2012 21:16:00

 
เป็นกระทู้ที่ดีมากครับ
 
โดย : บ้านเหนือ    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 14 ] Sat 25, Aug 2012 03:39:04

 

สนุกมากครับพี่

 
โดย : bonex    [Feedback +2 -0] [+0 -0]   [ 15 ] Sat 25, Aug 2012 19:00:37

 

ขอบคุณ สำหรับคำชม ของคุณบ้านเหนือ และหมอ bonex ครับ

 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 16 ] Sun 26, Aug 2012 18:21:57

 

ได้ความรู้อีกเยอะเลยครับพี่ท่าน..emo_10

 
โดย : hamee    [Feedback +26 -0] [+4 -0]   [ 17 ] Sun 26, Aug 2012 20:00:32

 

ชอบมากๆ ครับ emo_12

 
โดย : meemoodang    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 18 ] Mon 27, Aug 2012 22:51:31

 

ขอแสดงความคารวะ และ นับถือท่าน user name อาทิตย์ อย่างที่สุดครับ

ด้วยความจริงใจ

 
โดย : nit_phrakrung    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 19 ] Sun 2, Sep 2012 00:11:30

 

สุดยอดครับ ท่านบรมครู  (ไม่ได้เข้ามาแซวUserนี้นานแล้วรู้สึกเหงาจัง)

 
โดย : prapunpee    [Feedback +14 -0] [+0 -0]   [ 20 ] Fri 7, Sep 2012 23:04:42

 

เช่นกันครับ คุณ prapunpee ก็หายไปนาน ไม่เอาพระเนื้อดินที่ได้มาใหม่ มาโชว์กันบ้าง  จะได้ไม่เหงาครับ

 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 21 ] Sat 8, Sep 2012 17:15:00

 

ขอยกธงขาว กระดานนี้เล่นกันเฉพาะพวกพ้องอยู่ไม่กี่คน ลงสวยแค่ไหนก็รู้สึกเหงาอยู่ดีครับ (ท่านอาทิตย์)

 
โดย : prapunpee    [Feedback +14 -0] [+0 -0]   [ 22 ] Sat 8, Sep 2012 17:44:27

 

                    ผมไม่เข้าใจกับคำที่ว่า กระดานนี้เล่นกันเฉพาะพวกพ้องอยู่ไม่กี่คน   ของคุณ prapunpee ซึ่งในกระดานนี้ คนที่ผมรู้จัก และพบเจอกันตัวเป็นๆมีก็แค่ 3 คน นอกจากนั้นก็เพียงแค่เคยโทรศัพท์ไปสอบถาม ราคาพระบ้าง เรื่องราวของพระบ้าง ก็เท่านั้น ที่ผมยังไม่รู้จัก และเอาพระดีๆมาโชว์นั้น เยอะแยะ  ที่เห็นทักทายกันในกะทู้ ก็เป็นเรื่องปกติ ที่พบเจอพระที่สวย น่าสนใจก็จะเข้าไปทักทายบ้าง แซวกันบ้าง  ในฐานะคนชอบพระคอเดียวกันก็เท่านั้นครับ กก

 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 23 ] Sun 9, Sep 2012 05:06:28

 

ไม่มีอะไรมากครับท่าน อะไรที่ทำให้คนอายุใกล้ 20,000 วันต้องน้อยใจ ก็เห็นเชียร์กันไม่กี่ User เท่านั้นเอง (อย่าคิดมากครับท่านเดี๋ยว.....) ผมเป็นคนขี้เหงา ลงแล้วเล่นไม่สนุก ก็เท่านั้นครับ

 
โดย : prapunpee    [Feedback +14 -0] [+0 -0]   [ 24 ] Mon 10, Sep 2012 10:12:02

 

ผมไม่รู้ว่าท่านเป็นคนจังหวัดกาญฯหรือเปล่านะครับ

แต่ทางกรมศิลปากรก็ยืนยันแล้วว่า ทั้งที่กาญจณบุรี และ สุพรรณบุรีไม่ใช่เจดีย์ยุธหัตถี แต่เป็นไปได้ที่จะรบกันที่สุพรรณ

ที่กาญเป็นบริโภคเจดีย์เป็นของวัดร้าง ส่วนที่สุพรรณ เป็นเจดีย์ สมัยอู่ทอง ก่อนยุคพระนเรศ

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สมัยก่อนไม่นิยมสร้างเจดีย์เป็นอนุสรณ์ครับ

และถ้ารบชนะ จะทิ้งอาวุธ เครื่องประดับ ไว้ทำไมครับ ทำไม่ไม่เอากลับ

และศพทหาร ที่ตาย หรือว่าช้างที่ตาย จะต้องทำพิธีเผา แล้วเอากระดูกกลับ หรือไม่ก็บรรจุไว้ครับ

ในสงครามเป็น ทัพกษัตริย์ เขาให้เกียรติ ์ กัน เขาไม่เอายึดพระศพไว้หรอกครับ เขาให้เชิญกลับพม่าครับ

ตลอดข้าวของเครื่องใช้ก็เก็บเรียบร้อยไม่เอามาทิ้งขวางหรอกครับ

เรารบกับพม่านับครั้งไม่ถ้วนครับ รู้ได้อย่างไรว่าที่ขุดเจอเป็นของทัพ พระนเรศ

จากสมุติฐานล่าสุด การทำยุทธหัตถี อาจจะทำกันที่ทุ่งภูเขาทอง อยุธยา ครับ

แต่ถึงอย่างไรพระนเรศวร ทรงเป็น พระมหากษัตริย์ ที่ทรงเป็นที่เคารพอย่างสูงของพวกเรา

ไม่สำคัญว่าจะทรงกระทำยุทธหัตถีที่ใด แต่การสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ ไม่ว่าที่ใดก็ตาม

ย่อมแสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ย่อมเป็นสถานที่่ ที่เราควรเคารพบูชาทุกๆที่ จริงไหมครับ

 
โดย : nattakorn    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 25 ] Tue 11, Sep 2012 14:54:51

 

อ้ายหย่า....ท่านบรมครู เจอผู้รู้จริงแย้ว  (ท่านอาทิตย์VSท่านณัฐกร)

 
โดย : prapunpee    [Feedback +14 -0] [+0 -0]   [ 26 ] Tue 11, Sep 2012 20:15:55

 

 

                   ผมเป็นคนกรุงเทพ  ไม่ใช่คนกาญจนบุรีดอกครับ อาศัยที่ไปๆมาๆบ่อยๆ ยิ่งในช่วงหลังๆ ได้มีโอกาสมาเที่ยวที่
กาญจนบุรี และมีเวลาว่างในการออกสืบเสาะเรื่องราวของพระเครื่อง และสิ่งน่าสนใจต่างๆ ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง
                   ที่ว่า จากสมุติฐานล่าสุด การทำยุทธหัตถี อาจจะทำกันที่ทุ่งภูเขาทอง อยุธยา ก็มีผู้ออกมาเปิดประเด็น แล้วยังไม่
มีหลักฐานอ้างอิงที่แน่ชัด ยืนยันว่าการทำยุทธหัตถีเกิดขึ้นที่นั่น และที่คุณบอกว่า "ถ้ารบชนะ จะทิ้งอาวุธ เครื่องประดับไว้
ทำไม ศพทหาร ที่ตาย หรือว่าช้างที่ตาย จะต้องทำพิธีเผา แล้วเอากระดูกกลับ หรือไม่ก็บรรจุไว้ นั้น" ถ้าคุณเป็นพม่าที่รบแพ้
แล้วกำลังหนีตาย คุณยังจะมีเวลา มาคิดทำพิธีเผาก็บ้าแล้ว การทำอย่างนั้นได้ต้องเป็นฝ่ายทหารไทย ที่ไล่ล่าพม่า จนกระเจิด
กระเจิง กลับไปไกล  จึงจะมีเวลามาคิดถึงการเอาศพมาทำพิธีเผา นั่นก็เฉพาะทหารไทยเท่านั้น ศพพม่าคงไม่มีใครให้ความ
สนใจว่าจะทำอะไร เพราะว่าอยู่กลางป่ากลางดงอย่างนั้น การคิดจะเผาศพคนเป็นพันๆ อีกทั้งม้า ทั้งช้าง นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
คุณจะต้องไปหาฟืนปริมาณขนาดไหนมา และทหารที่เหนื่อยอ่อนจากการรบกันเห็นศพนอนกองสุมกันเป็นภูเขา ก็คงทำกัน
ได้ก็เฉพาะทหารไทยกันเอง
                   ส่วนพระบรมศพพระมหาอุปราชานั้น พงศาวดารพม่าก็อ้างว่านำกลับไปพม่า ซึ่งคงจะเป็นจริงตามนั้น เพราะ
สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระปราถนาให้เป็นเช่นนั้น จะได้ไปจัดงานฉลองพระบรมศพให้สมกับพระเกิยรติยศได้  
                   แล้วคุณก็เขียนต่อไปว่า "เรารบกับพม่านับครั้งไม่ถ้วน รู้ได้อย่างไรว่า ที่ขุดเจอเป็นของทัพ พระนเรศ" นั้นก็
แสดงว่า คุณยอมรับทีหลังแล้วว่าในการรบกันแม้จะเป็นการศึกสงคราม แม้จะย่อยๆก็ต้องมี อาวุธ เครื่องแต่งม้า ช้าง ตก
หล่นอยู่นั้น มันเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าต้องกลับกรุงศรีอยุธยาอีกระยะทางสัก ไม่ถึง 10 ก.ม. แล้วมีรถลำเลียงอาวุธมาขนกลับ
ได้ ผมก็เชื่อว่าทหารไทยก็คงอยากเก็บของกลับให้เกลี้ยงอย่างที่คุณว่า
                  กรมศิลปากรเองก็ออกมาให้ความเห็นกลับไปกลับมา หลายครั้งหลายหน จนเยาชนของชาติ ก็คงนึกเอาว่า แล้ว
ตูจะเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทยไปทำไม     
                 สุดท้าย ก็ยังไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่าการกระทำยุทธหัตถี ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น อยู่ตรงไหน
กันแน่ แต่ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้วีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยต้อง
เปลี่ยนไป  เพราะอนุสรณ์สถานของพระองค์  ไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตามเป็นสิ่งเตือนใจให้ เรารักและหวงแหนในแผ่นดินไทย
 และภูมิใจในวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวร ได้เสมอเหมือนกัน
 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 27 ] Wed 12, Sep 2012 15:15:38

 

ที่ผมถามว่าเป็นคนกาญจนบุรีหรือเปล่า เพราะผมกลัวว่าจะเกิดอัคติได้ครับ

ผมขอแสดงความคิดเห็นนะครับ

1.ประวัติศาสตร์ถูกบิดเบือนไปมาก เพราะจดหมายเหตุ ถูกทำลายไปหมดหลังจากเสียกรุงครั้งที่ 2

2.พงศาวดารเป็นเพียงนิทานใช้อ้างอิงทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ เราต้องดูจากหลักฐานปฐมภูมิ

3.ข้อมูลของกรมศิลปากร ก็ระบุไว้แล้วว่า เจดีย์ที่กาญจนบุรี เป็ยบริโภคเจดีย์ คือเจดีย์ของวัด

อายุและศิลปะเป็นช่วงอยุทธยาตอนปลาย หลังยุคพระนเรศ เป็นร้อยปีครับ

4.พี่สังเกตุดูของที่ขุดพบส่วนใหญ่เป็นของไทย หรือของพม่า ครับ 

5.เรื่่องที่ภูเขาทองเป็นแนวคิดใหม่มีหลักฐานจากบันทึกของชาวต่างชาติที่อยู่ในอยุธยาช่วงนั้นครับเป็นแค่สมติฐานครับ

6.พงศาวดารที่แต่งขึ้นบางท่อนก็เสริมให้ดูตื่่นเต่นนะครับ การรบสมัยก่อนถ้าแม่ทัพตาย ทหารก็ยอมแพ้ครับ

แล้วก็ต้องยอมเป็นเชลยศึกครับและส่วนใหญ่จะเป็นคนมอญครับ คนสมัยก่อนเขาไม่ป่าเถื่อนตามฆ่าให้สิ้นซากหรอกครับ ยิ่งทัพกษัตริย์

ยิ่งต้องให้เกียรติ์แก่ทหารที่ตายในสนามรบทั้งสองฝ่า่ยครับการทำศพก็เอาทหารเชลยละครับมาช่วยกันพลทหารก็ฝัง ส่วนแม่ทัพนายกองก็เผาเอากระดูกกลับประเทศของตน ไม่ใช่กองทับโจรเหมือนต้องเสียกรุงครั้งที่สองนะครับที่ป่าเถือนปล้นเผา ทำลายทุกอย่าง

ผมอยากให้มีคนอย่างพี่อาทิตย์มากๆ ครับ จะได้มาช่วยกันชำระ ประวัติศาสตร์ ให้ถูกต้อง

ไม่มีใครถูกหรือมีใครผิดครับ ผมอาจจะผิดทั้งหมดก็ได้ ว่ากันไปตามหลักฐานที่มีอยู่ในมือ และสมุติฐานแต่ละคนก็อาจแตกต่างกัน

ก็เหมื่อนกับการศึกษาพระเครื่่องละครับ ต้องดูด้วยตา ศึกษาให้ถ้องแท้ อย่าเชื่อนิทานที่เขาบอกมา

แต่ปัญหาใหญ่หลวงก็คือ แต่ละคนมักจะมีความเป็นตัวตนสูงไม่ยอมฟังใครเลย มองแต่สิ่งที่สนับสนุนความดิดตัวเอง

ก็เลยมัวแต่เถียงกันไม่ฟังกัน ความรู้ก็เลยหยุดอยู่แค่นั้น

ยินดีมากครับ สำหรับคนคอเดียวกันจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับตัวเองด้วย

ขอบคุณพี่อาทิตย์ที่เปิกระทู้ดีๆแบบนี้ ให้ผมได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นซึ่งอาจจะถูกบ้างผิดบ้าง

หวังว่าจะได้แลกเปลี่ยนทัศนะกันอีกนะครับ

ขอบคุณครับ

 
โดย : nattakorn    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 28 ] Wed 12, Sep 2012 19:31:20

 

ยินดีที่ได้แลกเปลี่ยน ความคิดเห็นกันครับ  หลายสมัยหลายๆบุคคลก็มัวมาถกเถียงกันเรื่องนี้

                อย่างที่่คุณ nattakorn ก็พูดได้ตรงประเด็นดีครับ  จนผมกลัวว่าความจริงที่เกิดขึ้นมาในครั้งกระนั้น จะไม่ใช่สิ่งที่ตรงกับคนเขียนประวัติศาสตร์ อยากให้เราเชื่อ จนบางคนก็ออกมาอ้างหลักฐานที่มาจากนอกประเทศว่า ไม่มีการยุทธหัตถีเกิดขึ้นในครั้งนั้นหรอก ส่วนพระมหาอุปราชาก็ทรงพระประชวรสิ้นพระชนต์ไป บ้างก็ว่าถูกปืนลึกลับลอบปลงพระชนต์เอา  เรื่องที่นอกเหนือจากนั้น ก็เกิดจากการแต่งเรื่อง เพื่อให้คนไทยเกิดความรักชาติ และภูมิใจในพระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวร จนเกินจริง

ผมไม่ได้ยึดติดกับเรื่องว่า ของจริงเกิดขึ้นที่ไหนหรอกครับ  แล้วยังคิดแปลกใจว่า ไม่เห็นมีใคร ที่มีหลักฐานดีๆ มีแนวคิดใหม่ๆเข้ามาโต้แย้งกัน  นั่นก็จะทำให้ ได้ข้อมูลที่ถูกต้องมากยิ่งๆขึ้น

ผมจึงสงสัยไงครับว่า ต่อไปลูกหลานเราจะยึดถืออะไร เชื่่ออะไรดี กรมศิลปากรเองสมัยหนึ่งก็ออกมารับรองอย่างนั้นอย่างนี้ พอมาอีกสมัย ก็คนของกรมอีกนั่นแหละออกมาแย้ง คัดค้านเสียเอง นั่นก็เพราะคนไทยชอบใช้คำที่ว่า เขาเชื่อกันว่า เป็นอย่างโน้น เป็นอย่างนี้ โดยไม่ได้มีการค้นคว้า แบบฝรั่ง ที่ค้นคว้า และทดลองว่า ได้ผลตามนั้นจริงจึงกล้าออกมาเปิดเผย มิฉนั้นจะโดนคนแย้งได้ละก้อ ไม่รู้จะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน

ก็ต้องขอบคุณมากครับ ที่่ได้สละเวลามาให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์

 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 29 ] Wed 12, Sep 2012 20:23:08

 

 

            การถกเถียงกันในเรื่องเหล่านี้ เกิดขึ้นทั้งๆที่ แต่ละฝ่ายก็มีเหตุผลครึ่งๆกลางๆ มาอธิบายให้แก่กัน และสาธารณะชนส่วนหนึ่ง ได้รับรู้ ดังนั้นจึงจำขี้ปากเขามาโต้เถียงกัน เป็นตุ เป็นตะ โดยหาข้อสรุปที่แน่ชัดว่า แล้วที่จริง เรื่องราวจริงๆมีความเป็นมาอย่างไรกันแน่  ซึ่งต่อไป หนังสือประวัติศาสตร์ที่ใช้เป็นแบบเรียน ของ นักเรียน ในโรงเรียน ก็ควรมีคำนำเกริ่นไว้ดังต่อไปนี้
            เนื้อเรื่อง ประวัติศาสตร์ชาติไทย ในหนังสือฉบับนี้ เกิดจากมีผู้ค้นคว้า หลายๆยุคหลายสมัย สันนิษฐาน เอาว่า เรื่องราวจริงๆ น่าจะเกิดขึ้นตามนี้  โดยที่หาหลักฐานที่แน่นอน และชัดเจน มาสนับสนุนข้อสันนิษฐานนั้น ยังไม่ได้เลย ดังนั้นเรื่องราวทั้งหมดนี้ อาจจะมีมูลความจริงส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมดของเรื่องราวเหล่านั้น อาจจะไม่เคยเกิดขึ้นจริงเลย ก็เป็นได้
            หากนักเรียนมีความสงสัยอันใด ก็ไม่ต้องไปถามครูหรอก เพราะครูก็เกิดไม่ทัน เค้าให้เรียน ก็เรียนไปเถิดนะ
 
            ความจริง กะทู้นี้เกิดขึ้นก็เพราะ ระหว่างสถานที่กระทำยุทธหัตถี ของสมเด็จพระนเรศวร หากเกิดขึ้นจริง  สถานที่ๆน่าจะเป็นจุดเกิดเหตุนั้น น่าจะอยู่ที่กาญจนบุรีมากกว่า สุพรรณบุรี ด้วยเหตุผลดังได้กล่าวมาแล้ว ก็เท่านั้นเองครับ
 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 30 ] Thu 13, Sep 2012 08:30:02

 

เห็นด้วยกับพี่อาทิตย์ครับ

ผมว่าที่เกิดปัญหาทุกวันนี้ เพราะผู้ใหญ่ใบบ้านเมืองเรากลัวเสียหน้า กลัวหน้าแตก

คนที่มีความรู้ก็โดนกีดกันไม่ให้แสดงความคิดเห็น สิ่งที่เราก็รู้อยู่เต็มอกว่ามันผิด มันไม่ถูกต้อง ร้องไปก็ไม่มีใครฟัง

เพราะดันไปขัดกับหลักการณ์ที่ผู้หลักผู้ใหญ่(ทั้งที่ผู้ใหญ่บ้างคนเหล่านั้นก็ตายไปนานแล้ว)เขาตัดสินไปแล้ว 

และที่สำคัญก็ไปฝังหัวให้เด็กรุ่นหลังเชื่ออย่างนั้น การศึกษาบ้านเราถึงมีแต่ถอยหลังครับ

บ้านเมืองเราเวลาจะตัดสินอะไร เกือบทุกเรื่่องครับ มีใบสั่งทั้งนั้น ไม่สนว่าอะไรถูกอะไรผิด

ขอขอบคุณพี่อาทิตย์ ที่เข้ามาพูดคุยกัน สนุกครับที่มีคนที่มีความรู้มาคุยด้วย 

แต่ผมกลัวว่าของจริงอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราคิดก็ได้ อาจจะเป็นหนังคนละม้วนกันเลยครับ

เพราะประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกันมาตั้งแต่อดีต ถูกแต่งขึ้นเพราะเหตุผลทางการเมื่องในสมัย ร.๔ ถึง ร.๖ ครับ 

พีอาทิตย์ลองดูประเทศกำพูชา ตอนนี้ซิครับ ว่าเขาบิดเบือนประวัติศาสตร์แค่ไหน 

แต่ตอนนี้ยังพูดมากไม่ได้ หายนะจะมาเยือนไม่รู้ตัว 

แต่ที่แน่ๆ ชนชาติไทยในอดีตยิ่งใหญ่มาก มาตั่งแต่สมัยทวารวดี แต่ที่เป็นอย่างทุกวันนี้เพราะเราขาดความสามัดคี และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนครับ

ของคุณครับพี่อาทิตย์ แล้วมาคุยกันอีกนะครับ

 
โดย : nattakorn    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 31 ] Thu 13, Sep 2012 11:23:54





 

               ผมเห็นด้วย ที่คุณ nattakorn บอกว่า เราก็รู้อยู่เต็มอกว่ามันผิด แต่ที่เป็นเช่นนี้ ก็เป็นเพราะว่ามีใบสั่ง

               ผมเคยไปถามความเห็น อาจารย์ของผมคนหนึ่งทีอยู่กรมศิลปากร และเป็นผู้หนึ่งที่เป็นคณะกรรมการเข้าตรวจสอบในครั้งกระโน้นด้วย  แกก็ตอบอ้อมแอ้ม แบบกลัวว่าถ้าพูดความจริงแล้ว เดี๋ยวผมจะเอาคำพูดของแกไปอ้าง ทั้งๆที่แกก็หาเหตุผล มายืนยันสิ่งที่แกพูดออกมาไม่ได้

                   สิ่งที่ผมไม่เห็นด้วยก็คือ การให้เกิยรติกัน ด้วยการเอาศพทหารที่ตายเผา แล้วเก็บเอาเถ้ากระดูกกลับไปนั้น ผมว่า คุณ nattakorn มองในด้านดีเกินไป ว่ากองทัพพม่าจะมีคุณธรรมถึงเพียงนั้น ยิ่งทหารเลวด้วยแล้ว และเป็นพวกมอญที่พม่าบังคับให้ไปช่วยรบก็ไม่มีวินัยหรอกครับ ถึงที่ไหนก็รื้อค้นทำลายจนแหลกราญไปหมด ดังนั้นตั้งแต่กาญจนบุรี ขึ้นไปถึงด่านเจดีย์สามองค์ จึงไม่มีโบราณสถานเก่าๆ หลงเหลืออยู่เลย ด้วยเหตุผลดังกล่าว จะมีก็แต่ปราสาทเมืองสิงห์เท่านั้นที่พม่าเห็นเป็นแต่หินก้อนโตๆ ก็เลยไม่รู้จะทำอะไร

                           และการเผาศพทหารที่ตายนั้นถ้าจำนวนน้อย ไม่กี่คน ก็ยังพอเป็นไปได้ แต่ถ้ามากมายเป็นร้อยเป็นพัน รวมทั้งช้างม้าทีตายด้วยแล้ว การตัดฟืนจากป่าดงดิบ ถึงแม้จะใช้ทหารเชลยมาทำนั่นก็ไม่ใช่ของง่าย เพราะไม้ฟืนสดๆนั้นมันติดไฟยากครับ  ดังนั้นที่ ทุ่งตระพังตรุนี้ จึงมีกระโหลกม้ากระโหลกช้าง รวมทั้งกระดูกคนมากมายจนเกลื่อนไปหมด แม้เร็วๆนี้ก็ยังขุดพบกระดูกม้ารอบๆบริเวณ พระบรมราชานุสาวรีย์อีกเรื่อยๆ

                                    การที่คุณ nattakorn บอกว่าในสมัยนั้น เขาไม่นิยมสร้างเจดีย์กันนั้น ผมว่าก็ไม่มีอะไรมายืนยันได้ว่าเป็นจริงตามนั้น เพราะถ้าหากมีเหตการณ์ที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น แล้วถ้าต้องการให้เป็นจุดสังเกตุได้ว่า เป็นที่เกิดเหตุ ผมว่าสิ่งที่น่าจะทำให้คนที่มาทีหลังรู้ว่า สถานที่นั้นอยู่ตรงไหน ในป่าในดงลึก สำหรับเจ้าพระยา มหากษัตริย์แล้ว ก็น่าจะเป็นเจดีย์นี่แหละดังเช่นสถูปของสมเด็จพระนเรศวรที่เมืองหางในรัฐฉาน ที่อยู่ริมแม่นํ้าซึ่งปัจจุบันไม่มีแล้วเพราะทหารพม่า เอารถมาดันองค์สถูปนี้ลงแม่นํ้า จนหมด ไม่เหลือแม้แต่อิฐ ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นที่เคารพของชาวไทยใหญ่มาก ที่เวลาจะสู้รบกับทหารพม่า ก็จะมาบวงสรวงที่สถูปแห่งนี้ก่อน แล้วได้ชัยชนะกลับมาเสมอๆ

  

 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 32 ] Sat 15, Sep 2012 06:56:32

 

ขอบคุณครับพี่อาทิตย์

เรื่องการทำศพทหารผมแค่เสนอแนวคิดอีกแนวหนึ่งเท่านั้นครับ ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้องนัก ผมใช้หลักโบราณราชประเพณีของการรบ

แบบกษัตริย์กับกษัตริย์ แต่ในสงครามจริงๆและในป่า  อาจจะไม่มีใครประติบัติก็ได้ครับ อันนี้แนวคิดของพี่อาทิตย์เป็นไปได้มากกว่า

อย่างที่พี่อาทิตย์ว่า โบราณสถานของเราถูกทำลายไปเกือบหมดครับ พี่อาทิตย์ครับ อย่าว่าแต่พม่าทำลายเลยครับ ผมว่าคนไทยนี่แหละครับ ตัวทำลายยิ่งกว่าพม่าในอดีตเสียอีก ทุกวันนี้เราเลยเหลือแต่ มรดกรกโลก(ขอโทษครับอาจจะแรงไป)

ก็เป็นไปได้ครับที่อนุสรณ์ที่พระนเรศสร้างไว้อาจถูกทำลายไปแล้วโดยฝีมือใครก็ไม่รู้ เหมือนเจดีย์พระสุริโยทัยพี่อาทิตย์ทราบใช่ไหมครับ ว่าไม่ใช่องค์จริง อย่างที่พีอาทิตย์บอกครับว่า " สำหรับเจ้าพระยา มหากษัตริย์แล้ว ก็น่าจะเป็นเจดีย์นี่แหละดังเช่นสถูปของสมเด็จพระนเรศวรที่เมืองหางในรัฐฉาน" ผมมาทบทวนดูแล้วก็มี่เหตุผล

น่าจะเป็นไปได้ เพราะที่อื่นๆ มักจะสร้างวัดเพื่อเป็นอนุสรณ์ แต่ในป่าสร้างวัดคงจะไม่ไหว

พี่อาทิตย์ผมสงสัยอีกอย่างหนึ่งครับ ในเมื่อดอนเจดีย์ที่กาญจนบุรี ได้ประกาศเป็นโบราณสถานแล้ว คนที่ขุดพบกระดูกและของขึ้นมาใหม่ ก็ควรจะเป็นคนของกรมศิลปากรใช่ไหม่ครับ เพราะฉนั้น เขาย่อมทราบโดยดูจากชั้นดินว่า ของที่ขุดขึ้นมามีอายุประมาณเท่าไร และเรายังสามารถตรวจสอบทางหลักนิติวิทยาศาสตร์ได้อีก ในแง่ของชาติพันธ์ และอายุของโครงกระดูก ทำไม่ไม่เห็นมีใครเอาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ มาเปิดเผยละครับ (หรือเขาไม่ยอมทำกันไม่อยากรู้ กลัวรู้แล้วจะปวดหัว )

ปล. ผมลองตามไปอ่านกระทู้ของพี่อาทิตย์ครับ ผมชอบมากครับ สนุกแล้วยังได้ความรู้กับแนวคิดใหม่ๆอีก

ขอบคุณมากครับที่สละเวลาเข้ามาคุย และท้วงติงกัน สนุกมากครับ และได้ประโยชน์มากด้วย

 

 

 
โดย : nattakorn    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 33 ] Sat 15, Sep 2012 09:50:31

 

             ในตอนหลังๆนี้ ทาง อ.บ.ต. เป็นผู้รับผิดชอบ ดูแลสถานที่อยู่ครับ พอพบกระดูกม้า หรือโบราณวัตถุ ก็รายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรู้  ซึ่งกรมศิลปากรก็คงเข้ามาร่วมตรวจสอบด้วย  แต่คงไม่มีเป้าหมายที่จะออกแถลงการในความคืบหน้าอะไรหรอกครับ เดี๋ยวจะไปพบกับความจริง แย้งกับใบสั่งที่ "เขาตัดสีนไปแล้ว" ก็จะโดนเด๊งกันเป็นแถว

                 แต่เชื่อเถิดครับ ว่าต่อแต่นี้ไป เรื่องราวที่หาหลักฐานมาอ้างอิงไม่ได้ มิหนำซํ้ามีการตอกตะปูมา ก็จะโดนคนรุ่นใหม่ที่มีเหตุมีผล โต้แย้ง ไม่รู้จบ จนกว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับใบสั่งจะคิดได้ว่า สู้ปล่อยให้ความจริงเป็นความจริง ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียหน้า เพราะคนรุ่นใหม่ก็ใช่ว่าจะดูถูกคนรุ่นเก่าแบบไม่มีเหตุผล เพราะก็เข้าใจครับ ว่าในสมัยก่อน ใช้ความเข้าใจของตนเองดังนั้น การค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ ยังจึงไม่มีหลักการแบบแผน โดยต้องอาศัยหลักฐานมาอ้างอิงให้แน่นแฟ้นเช่นทุกวันนี้ เมื่อถึงวันนั้นเด็กของเราก็คงได้เรียนประวัติศาสตร์ได้อย่างสนิมใจมากกว่าทุกวันนี้ครับ

 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 34 ] Sat 15, Sep 2012 11:30:08

 

ขอบคุณครับพี่อาทิตย์ ถ้ามีอะไรคืบหน้าอย่าลืมบอกกันนะครับ

 
โดย : nattakorn    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 35 ] Sat 15, Sep 2012 16:46:41





 

 ได้มีการขุดบูรณะที่รอบ องค์พระเจดีย์ ยุทธหัตถี และได้พบกับกระดูกม้าส่วนหนึ่ง ดูคลิป

 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 36 ] Tue 23, Jul 2013 16:36:36









 

 ถ้าใครเคยไปเที่ยวประเทศพม่า  และได้ไปเห็น โบราณสถานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระราชวังในเมืองเก่าหลายๆเมือง ที่เคยเป็นราชธานีของพม่ามาก่อน และทะเลเจดีย์ที่อาณาจักรพุกาม ที่ ประกอบไปด้วยเจดีย์น้อยใหญ่ที่ว่ากันว่า เกือบจะถึง 10,000 องค์ แล้วจะต้องตื่นตาตื่นใจว่า อยุธยาของเรานั้นดูเป็นเด็กๆไปเลย นั่นต้องแสดงว่า พม่าต้องรุ่งเรือง มีกำลังพล  วัตถุดิบทรัพยากร และใช้เวลามาเป็นพันกว่าปี จึงจะมีสิ่งก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่นี้ได้  นี่เองจึงเป็นจุดเตะตาฝรั่งหลายสัญชาติที่เข้ามาป้วนเปี้ยนหาเมืองขึ้น เพื่อที่จะได้ยึดครอง และขนทรัพย์สินมีค่า กลับไปยังบ้านเมืองตัวเอง  หลายคนคงจะรู้ว่าแก้วแหวนเงินทองที่อังกฤษขนกลับไปจากวังกษัตริย์นั้น มากมามหาศาลแค่ไหน ในพระราชสมบัติที่โดนอังกฤษยึดครองไปนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นทรัพย์สมบัติที่ยึดครองเอาไปจากไทย สมัยกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่่ 2 แม้แต่ทองคำที่หุ้มองค์พระเจดีย์ชเวดากองนั้น ก็ได้จากไทยไปในคราวนั้นด้วย

           ฝรั่งหลายสัญชาติที่เข้ามาป้วนเปี้ยนอยู่ในสมัยนั้นทั้งพม่า ลาว ไทย เขมร มันก็หูตาไว เมื่อรู้ว่ากรุงศรีอยุธยาถูกพม่ารุกรานเผาบ้านเผาเมือง ขนเอาทรัพย์สมบัติกลับไปก่อนหน้านั้น ที่เมืองไทยย่อมจะมีทรัพย์สมบัติให้มันยึดครองได้ไม่คุ้ม เพราะไทยยังเพิ่งก่อร่างสร้างบ้านเมืองใหม่ได้ประมาณร้อยกว่าปี  พม่าจึงเป็นเป้าหมายอันดับแรกๆที่อังกฤษ กะว่าจะต้องยึดครองให้ได้  พม่าจึงซวยไป โดนอังกฤษเข้ายึดครองทั้งประเทศเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หลังจากทำสงครามกับอังกฤษมาแล้วหลายครา

นั่นจึงเป็นเหตุผลใหญ่อันหนึ่ง ที่ทำให้ ไทย ไม่ตกเป็นเมืองขึ้น ของฝรั่งนักล่าอาณานิคมเสือหิวทั้งหลายในช่วงนั้น

 
โดย : อาทิตย์    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 37 ] Fri 24, Jan 2014 13:35:21

 
ไปชมโบราณวัตถุ และความเป็นมาของ เจดีย์ยุทธหัตถี กาญจนบุรี : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.