พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ
โชว์พระเกจิอาจารย์ทั่วไป

เหรียญครูบาชัยวงษา วัดพุทธบาทห้วยต้ม


เหรียญครูบาชัยวงษา วัดพุทธบาทห้วยต้ม


เหรียญครูบาชัยวงษา วัดพุทธบาทห้วยต้ม

   
  เหรียญครูบาชัยวงษา วัดพุทธบาทห้วยต้ม  
     
โดย : เอก บางขุนเทียน   [Feedback +0 -0] [+0 -0]   Tue 12, Apr 2011 00:51:55
 




 

ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา เกิด 22 เม.ย 2456 มรณภาพ2543...ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา

( พระครูพัฒนกิจจานุรักษ์ )

สงฆ์สาวกพระภาคเจ้า……หมู่ใด 
ปฏิบัติตามพระวินัย……………ชอบแล้ว 
ประพฤติเพื่อพ้นไป………จากทุกข์ทั้งปวง 
อีกหนึ่งสรณะแก้ว …………… นบเกล้านมัสการ

ชาติภูมิ

          นามเดิม วงศ์หรือชัยวงศ์  นามสกุล ต๊ะแหนม  เกิดที่ ตำบลหันก้อ อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน  เกิดเมื่อ วันอังคาร เดือน ๗ ( เหนือ ) แรม ๒ ค่ำ  ปีฉลู  ตรงกับวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๖  เวลา ๒๔.๑๕ นาฬิกา  มีพี่น้องรวม ๙ คน  ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓

ชิวิตในวัยเด็ก

          ท่านเกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนาที่ยากจน  พ่อแม่ของท่านมีสมบัติติดตัวมาแค่นา ๓-๔ ไร่  ควาย ๒-๓ ตัว  ทำนาได้ข้าวปีละ ๒๐-๓๐ หาบ  ไม่พอกินเพราะต้องแบ่งไว้ทำพันธุ์ส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ใส่บาตรทำบุญบูชาพระ  ส่วนที่เหลือจึงจะเก็บไว้กินเอง  ต้องอาศัยขุยไผ่ขุยหลวกมาตำเอาเม็ดมาหุงแทนข้าว  และอาศัยของในป่า  รวมทั้งมันและกลอยเพื่อประทั้งชีวิต  บางครั้งต้องอดมื้อกินมื้อก็มี  แม่ต้องไปขอญาติพี่ๆน้องๆ  เขาก็ไม่มีจะกินเหมือนกัน  แม่ต้องกลับมามือเปล่า  พร้อมน้ำตาบนใบหน้ามาถึงเรือน  ลูกๆก็ร้องไห้เพราะหิวข้าว

          แม้ว่าครอบครัวของท่านต้องดิ้นรนต่อสู้กับความอดทนอยากแต่ก็ไม่ได้ละทิ้งเรื่องการทำบุญให้ทาน  ข้าวที่แบ่งไว้ทำบุญ  แม่จะแบ่งให้ลูกทุกคนๆละปั้น  ไปใส่บาตรบูชาพระพุทธทุกวันพระ

          โยมพ่อเคยสอนว่า " ตอนนี้พ่อแม่อด  ลูกทุกคนก็อด  แต่ลูกๆทุกคนอย่าท้อแท้ใจ  ค่อยทำบุญไปเรื่อยๆ  บุญมีภายหน้าก็จะสบาย "และโยมพ่อเคยพูดกับท่านว่า

          " ลูกเอ๋ยเราทุกข์ขนาดนี้เชียวหนอ  ข้าวจะกินก็ไม่มี  ต้องกินไปอย่างนี้  ค่อยอดค่อยกลั้นไป  บุญมีก็ไม่ถึงกับอดตายหรอก  ทรมานมานานแล้ว  ถึงวันนี้ก็ยังไม่ตาย  มันจะตายก็ตาย  ไม่ตายก็แล้วไป  ให้ลูกอดทนไปนะ  ภายหน้าถ้าพ่อยังไม่ตายเสียก่อนก็ดี  ตายไปแล้วก็ดี  บางทีลูกจะได้นั่งขดถวายหงายองค์ตีน ( บวช )  กินข้าวดีๆอร่อยๆ  พ่อนี่จะอยู่ทันเห็นหรือไม่ทันก็ยังไม่รู้ "

ผู้มีความขยันและอดทน

          ในสมัยที่ท่านยังเล็กๆอายุ ๓-๔ ขวบ  ท่านมีโรคประจำตัวคือ โรคลมสันนิบาต  ลมเปี่ยวลมกัง  ต้องนั่งทุกข์อยู่เป็นวันเป็นคืน  เดินไปไกลก็ไม่ได้  วิ่งก็ไม่ได้เพราะลมเปี่ยว  ตะคริวกินขากินน่อง  เดินเร็วๆก็ไม่ได้  ต้องค่อยไปค่อยยั้ง  เวลาอยู่บ้านต้องคอยเลี้ยงน้อง  ตักน้ำติดไฟไว้คอยพ่อแม่ที่เข้าไปในป่าหาอาหาร

          ในช่วงที่ท่านมีอายุได้ ๕-๑๐ ขวบ  ท่านต้องเป็นหลักในบรรดาพี่น้องทั้งหมดที่ต้องช่วยงานพ่อแม่มากที่สุด  เวลาพ่อแม่ไปไร่ไปนาก็ไปด้วย  เวลาพ่อแม่ไปหากลอยขุดมัน  หาลูกไม้ในป่า  ท่านก็ไปช่วยขุดช่วยหาบกลับบ้าน  บางครั้งพ่อแม่หลงทางเพราะไปหากลอยตามดอยตามเนินเขา  กว่าจะหากลอยได้เต็มหาบก็ดึก  ขากลับพ่อแม่จำทางไม่ได้  ท่านก็ช่วยพาพ่อแม่กลับบ้านจนได้

          ครั้นถึงหน้าฝน  พ่อแม่ออกไปทำนา  ท่านก็ติดตามไปช่วยทุกอย่าง  พ่อปั้นคันนาท่านก็ช่วยพ่อ  พ่อไถนาท่านก็คอยจูงควายให้พ่อ  เวลาแม่ปลูกข้าวก็ช่วยแม่ปลูกจนเสร็จ

          เสร็จจากหน้าทำนา  ท่านก็จะเผาไม้ในไร่เอาขี้เถ้า  ไปขุดดินในถ้ำมาผสม  ทำดินปืนไปขาย  ได้เงินซื้อข้าวและเกลือ  บางครั้งก็ไปอยู่กับลุงน้อยเดชะรับจ้างเลี้ยงควาย  บางปีก็ได้ค่าแรงเป็นข้าว ๒-๓ หาบ  บางปีก็เพียงแต่ขอกินข้าวกับลุง  พอตุนท้องตุนไส้ไปวันๆ

          พอถึงเวลาข้าวออกรวง  นกเขาจะลงกินข้าวในนา  ท่านก็จะขอพ่อแม่ไปเฝ้าข้าวในนาตั้งแต่เช้ามืด  กว่าจะกลับก็ตะวันลับฟ้าไปแล้ว

ผู้มีความกตัญญู

          หลวงพ่อมีความกตัญญูมาตั้งแต่เด็ก  ท่านช่วยพ่อแม่ทำงานต่างๆ ทุกอย่างเท่าที่ทำได้  ตั้งแต่อายุได้ประมาณ ๕ ขวบ  ท่านก็ช่วยพ่อแม่เฝ้านา  เลี้ยงน้อง  ตลอดจนช่วยงานทุกอย่างของพ่อแม่  เมื่อเวลาที่พ่อแม่หาอาหารไม่ได้  ท่านก็จะไปรับจ้างชาวบ้านแถบบ้านก้อทำความสะอาด  หรือช่วยเฝ้าไร่นา  เพื่อแลกกับข้าวปลาอาหารมาให้พ่อแม่และน้องๆกิน

          ในบางครั้งอาหารที่ได้มาหรือที่พ่อแม่จัดหาให้ไม่เพียงพอกับคนในครอบครัว  ด้วยความที่ท่านมีนิสัยเสียสละ  และไม่ต้องการให้พ่อแม่ต้องเจียดอาหารของท่านทั้งสองซึ่งมีน้อยอยู่แล้วออกมาให้ท่านอีก  ท่านจึงได้บอกว่า " กินมาแล้ว "  เพื่อให้พ่อแม่สบายใจ  แต่พอลับตาผู้อื่น  หรือเมื่อผู้อื่นในบ้านหลับกันหมดแล้ว  ท่านก็จะหลบไปดื่มน้ำ  หรือบางครั้งจะหลบไปหาใบไม้ที่พอจะกินได้มาเคี้ยวกิน  เพื่อประทังความหิวที่เกิดขึ้น  ท่านเติบโตขึ้นมาโดยพ่อแม่เลี้ยงข้าวท่านไม่ถึง ๑๐ ถัง  แต่ท่านในสมัยเป็นเด็ก  กลับหาเลี้ยงพ่อแม่มากกว่าที่พ่อแม่หาเลี้ยงท่าน

นิสัยกล้าหาญ

          เมื่อท่านอายุได้ประมาณ ๑๐ ขวบ  ท่านต้องออกไปเฝ้านาข้าว  เพื่อคอยไล่นกที่จะมากินข้าวในนา  ท่านต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตี ๔ ยังไม่สว่าง  นกยังไม่ตื่นออกหากิน  การที่ท่านต้องออกไปไร่นาแต่เพียงลำพังคนเดียวเป็นประจำ  ทำให้ลุงตาลซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของท่านอดสงสัยไม่ได้  จนต้องเข้ามาถามท่าน

          ลุงตาล  " มึงนี้เป็นผีเสือหรือไร  แจ้งมากูก็เห็นมึงที่นี่  มึงไม่ได้นอนบ้านหรือ ? "

          ด.ช.วงศ์  " เมื่อนกหนูนอนแล้ว  ข้าจึงกลับไปบ้าน  เช้ามืดไก่ขัน  หัวทียังบ่แจ้ง  นกยังบ่ลงบ่ตื่น  ข้าก็มาคนเดียว "

          ลุงตาล  " ไม่กลัวเสือ ไม่กลัวผีป่าหรือ ? "

          ด.ช.วงศ์  " ผีเสือมันก็รู้จักเรา  มันไม่ทำอะไรเรา  เราเทียวไปเทียวมา  มันคงรู้  และเอ็นดูเรา  บางวันตอนเช้าเราเห็นคนเดินไปข้างหน้า  เราก็เดินตามก็ไม่ทัน  จนถึงไร่มันก็หายไป  เราก็เข้าใจว่ามันไปส่งเรา  เราก็ไม่กลัว  บางเช้าก็ได้ยินเสียงเสือร้องไปก่อนหน้า "

          ลุงตาล  " ไม่กลัวเสือหรือ ? "

          ด.ช.วงศ์  " เราไม่กลัว  มันเป็นสัตว์  เราเป็นคน  มันไม่รังแกเรา  มันคงสงสารเราที่เป็นทุกข์ยาก  มันคงจะมาอยู่เป็นเพื่อน  เราจะไปจะมา  ก็ขอเทวดาที่รักษาป่าช่วยรักษาเรา  เราจึงไม่กลัว "

          ลุงตาล  " มึงเก่งมาก  กูจักทำตามมึง "

          ด.ช.วงศ์  " เราไม่ได้ทำอะไรมัน  มันก็ไม่ทำอะไรเรา  มันไม่รังแกเรา  เราคิดว่า คนที่ใจบาปไปเสาะหาเนื้อในป่า  กินกวางกินเก้งกินปลา  เสือก็ยังไม่กัดใครตายในป่าสักคน  เวลาเราจะลงเรือน  เราก็ขอให้บุญช่วยเรา "

          ลุงตาล  " มึงยังเด็ก  อายุไม่ถึง ๑๐ ขวบ  มืดๆ ดึกๆก็ไม่กลัวป่า  ไม่กลัวเถื่อน  ไม่กลัวผีป่าผีพง  ไม่กลัวช้าง  กูยอมมึงแล้ว "

ปัญญาพิจารณาเห็นทุกข์

          ขณะที่ท่านนั่งอยู่ใต้ต้นไม้ในป่าคนเดียวตามลำพัง  ท่านได้เปรียบเทียบชีวิตท่านกับสัตว์ป่าทั้งหลายว่า " นกทั้งหลายต่างก็หากินไป  ไม่มีที่หยุด  ต่างก็เลี้ยงตัวเองไปตามประสามัน  ก็ยังทนทานไปได้  ตัวเราค่อยอดค่อนทนไปก็ดีเหมือนกัน  สัตว์ทั้งหลายก็ทุกข์ยากอย่างเรา  สัตว์ในโลกก็ทุกข์เหมือนกันทุกอย่าง  เราไม่ควรจะเหนื่อยคร้าน  ค่อยอดค่อยทนตามพ่อแม่นำพาไป "

พรหมวิหารสี่

          หลวงพ่อมีความเมตตากรุณาและพรหมวิหารสี่มาแต่เยาว์วัยอย่างหาที่เปรียบมิได้  เพื่อนของหลวงพ่อตั้งแต่สมัยนั้นเล่าว่า  เมื่อสมัยที่ท่านเป็นเด็กระหว่างทางไปหาของหรืออาหารป่า  ทุกครั้งที่เห็นสัตว์ถูกกับดักของนายพราน  ท่านจะปล่อยสัตว์เหล่านั้นให้มีอิสรภาพเสมอ  แล้วจะหาสิ่งของมาทดแทนให้กับนายพราน  เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับชีวิตของมัน

          ครั้งหนึ่งท่านเห็นตัวตุ่นถูกกับดักนายพรานติดอยู่ในโพรงไม้ไผ่  ด้วยความสงสารท่านจึงปล่อยตัวตุ่นนั้นไป  แล้วหยิบหัวมันที่หามาได้จากในป่า  ซึ่งตั้งใจไว้ว่าจะนำไปให้พ่อแม่และน้องๆกิน  ใส่เข้าไปในโพรงไม้นั้นแทน  เพื่อเป็นการชดใช้แลกเปลี่ยนกับชีวิตของตัวตุ่นนั้น

          ต่อมามีอยู่วันหนึ่ง  ท่านไปพบปลาดุกติดเบ็ดของชาวบ้านที่นำมาปักไว้ที่ห้วย  ท่านเห็นมันดิ้นทุรนทุรายแล้วเกิดความสงสารเวทนาปลาดุกตัวนั้นมาก  จึงปลดมันออกจากเบ็ด  แล้วเอาหัวผักกาดที่ท่านทำงานแลกมาซึ่งตั้งใจไว้ว่าจะนำไปให้พ่อแม่และน้องๆกิน  มาเกี่ยวไว้แทนเป็นการแลกเปลี่ยนชีวิตปลาดุกนั้น

          หลวงพ่อได้เมตตาบอกถึงเหตุผลที่กระทำเช่นนั้นว่า  ในเวลานั้นท่านมีความเวทนาสงสารสัตว์เหล่านั้นจึงได้ช่วยชีวิตของมันไว้  ท่านมักจะสั่งสอนลูกศิษย์อยู่เสมอว่า " ชีวิตของใครๆก็รักทั้งนั้น  เราทุกคนควรจะเมตตาตนเอง  และเมตตาผู้อื่นอยู่เสมอ  โลกนี้จะได้มีความสุข "

          ด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่ไม่ชอบการผิดศีลมาตั้งแต่สมัยเด็ก  เมื่อท่านเห็นว่าคนอื่นจะผิดศีล ข้อปาณาติบาต ( การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ) ก็รู้สึกสงสารทั้งผู้ทำปาณาตีบาตและผู้ถูกปาณาติบาต  ซึ่งท่านไม่อยากเห็นพวกเขามีเวรมีกรรมกันต่อไป  แต่ในขณะเดียวกันท่านก็ไม่ต้องการให้ตัวเองต้องผิดศีลโดยไปลักขโมยของผู้อื่น  ซึ่งในเวลานั้นท่านไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี  ท่านจึงต้องหาสิ่งของมาตอบแทนให้กับเขา  แต่ในบางครั้งก็ไม่มีสิ่งของมาแลกกับชีวิตของสัตว์เหล่านั้นเหมือนกัน  แต่ท่านก็สามารถจะช่วยมันได้โดยปล่อยมันให้เป็นอิสระ  แล้วท่านนั่งรอนายพรานจนกว่าเขาจะมาและก็ขอเอาตัวเองชดใช้แทน  ซึ่งท่านได้เล่าว่า บางคนก็ไม่ถือสาเอาความ  แต่บางคนก็ให้ไปทำงานหรือทำความสะอาด  ทดแทนกับที่ท่านไปปล่อยสัตว์ที่เขาดักไว้  แต่ไม่เคยมีใครทำร้ายทุบตีท่าน  อาจจะมีบ้างก็เพียงแต่ว่ากล่าวตักเตือน

          ท่านได้พูดว่า " แม้ว่าบางครั้งจะต้องทำงานหนักเพื่อใช้ชีวิตของสัตว์ที่ท่านได้ปล่อยไป  แต่ท่านก็รู้สึกยินดีและปิติใจเป็นอันมากที่ได้ทำในสิ่งที่ดีงามเหล่านี้ "

กินอาหารมังสวิรัติ

          เมื่อท่านอายุได้ ๑๒ ปี  ท่านได้พบเหตุการณ์สำคัญที่ทำไม่อยากจะกินเนื้อสัตว์นั้นเลยนับแต่นั้นมากล่าวคือ  มีครั้งหนึ่งท่านได้เห็นพญากวางใหญ่ถูกนายพรานยิง  แทนที่พญากวางตัวนั้นจะร้องเป็นเสียงสัตว์มันกลับร้องโอยๆๆๆเหมือนเสียงคนร้อง  แล้วสิ้นใจตายในที่สุด  และเมื่อท่านไปอยู่กับครูบาชัยลังก๋าซึ่งไม่ฉันเนื้อสัตว์  ท่านจึงงดเว้นอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ตั้งแต่นั้นมา 
 
          อีกประการหนึ่งอาจเป็นด้วยบุญบารมีที่ท่านได้สร้างสะมาแต่อดีตชาติ  ประกอบกับได้เห็นความทุกข์ยากของสัตว์ต่างๆที่ถูกทำร้าย จึงทำให้ท่านเกิดความสลดใจอยู่เสมอ  ท่านจึงตั้งจิตอธิษฐานถึงคุณพระศรีรัตนตรัยตั้งแต่นั้นมาว่า " จะไม่ขอเบียดเบียนชีวิตผู้อื่นไม่ว่าจะเป็นคนหรือสัตว์และจะไม่ขอกินเนื้อสัตว์อีกต่อไป "  ท่านได้เมตตาสอนว่า " สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมรักและหวงแหนชีวิตของมันเอง  เราทุกคนไม่ควรจะเบียดเบียนมัน  มันจะได้อยู่อย่างเป็นสุข " และท่านยังพูดเสมอว่า " ท่านต้องการให้ศีลของท่านบริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อยๆ "

          สัตว์ทุกตัวมันก็รักชีวิตของมันเหมือนกัน  เมื่อเราฆ่ามันตายเพื่อกินเนื้อมัน  จิตของมันไปที่สำนักพระยายมก็จะฟ้องร้องว่าคนนั้นฆ่ามันตาย  คนนี้กินเนื้อของมัน  ถึงแม้จะไม่ได้ฆ่า  คนกินก็เป็นจำเลยด้วยก็ย่อมต้องได้รับโทษ  แต่จะออกมาในรูปของการเจ็บไข้ได้ป่วย  และความไม่สบายต่างๆซึ่งเจ้าตัวไม่รู้สึกเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา

บรรพชาเป็นสามเณร

          เมื่อท่านอายุย่าง ๑๓ ปี ( พ.ศ. ๒๔๖๘ ) ด้วยผลบุญที่ท่านได้บำเพ็ญมาตั้งแต่ปางก่อนในอดีตชาติ  และได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระสงฆ์ครูบาอาจารย์ในชาตินี้จึงดลบันดาลให้ท่านมีความเบื่อหน่ายต่อชีวิตทางโลก อันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา  ท่านจึงได้รบเร้าขอให้พ่อแม่ท่านไปบวช  เพื่อท่านจะได้บำเพ็ญธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อบิดามารดาได้ฟังก็เกิดความปิติยินดีเป็นยิ่งนัก

          ไม่นานหลังจากนั้นพ่อแม่ก็ได้นำท่านไปฝากกับหลวงอาท่านได้อยู่เป็นเด็กวัดกับหลวงอาได้ไม่นาน  หลวงอาจึงนำท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์และบวชเณรกับครูบาชัยลังก๋า ( ซึ่งเป็นธุดงค์กรรมฐานรุ่นพี่ของครูบาศรีชัย ) ครูบาชัยลังก๋าได้ตั้งชื่อให้ท่านใหม่หลังจากเป็นสามเณรแล้วว่า " สามเณรชัยลังก๋า " เช่นเดียวกับชื่อของครูบาชัยลังก๋า

มีความเคารพเชื่อฟัง

          ท่านเป็นผู้ที่มีความขยันหมั่นเพียรและเคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ตลอดจนผู้สูงอายุ  จึงทำให้ครูบาอาจารย์และผู้เฒ่าผู้แก่รักใคร่เอ็นดูมาก  จนเป็นเหตุทำให้เพื่อนเณรบางคนพากันอิจฉาริษยา  หาว่าท่านประจบครูบาอาจารย์  เมื่อใดที่ท่านอยู่ห่างจากครูบาอาจารย์เป็นต้องถูกรังแกเสมอ  ทำให้การอยู่ปรนนิบัติติดตามครูบาอาจารย์เป็นไปอย่างไม่มีความสุข  แต่ด้วยความเคารพกตัญญูต่อครูบาอาจารย์  และต้องการที่จะปฏิบัติธรรมกรรมฐานเพื่อมรรคผล  ท่านจึงได้ใช้ขันติและให้อภัยแก่พระเณรเหล่านั้นที่ไม่รู้สัจจธรรมในเรื่องกฎแห่งกรรมที่องค์สมเด็จพระชินสีห์ได้กล่าวไว้ว่า " ทำความดีได้ดี  ทำความชั่วผลแห่งความชั่วย่อมตอบสนองผู้นั้น "

ชายชราลึกลับ

          เพื่อนพระสงฆ์ที่เคยอยู่ร่วมกันกับท่านในสมัยเป็นเณรได้เล่าว่า " หลวงพ่อวงศ์เป็นผู้มีขันติและอภัยทานสูงส่งจริงๆ "  ครั้งหนึ่งท่านเคยถูกเณรองค์อื่น  เอาน้ำรักทาไว้บนที่นอนของท่านในสมัยนั้นยังไม่มีไฟฟ้า และเทียนก็หาได้ยาก  ท่านจึงมองไม่เห็น  เมื่อท่านนอนลงไป  น้ำรักก็ได้กัดผิวหนังของท่านจนแสบจนคัน  ท่านจึงได้เกาจนเป็นแผลไปทั้งตัว ไม่นานแผลเหล่านั้นก็ได้เน่าเปื่อยขึ้นมาจนทำให้ท่านได้รับทุกขเวทนามาก  แต่ด้วยความที่ท่านเป็นคนดีมีธรรมะเมตตาให้อโหสิกรรมกับผู้อื่น  ท่านจึงใช้ขันติข่มความเจ็บปวดเหล่านั้นโดยไม่ปริปากหรือกล่าวโทษผู้ใด

          ทุกครั้งที่ครูบาอาจารย์ถาม  ท่านก็ไม่ยอมที่จะกล่าวโทษใครเลย เพียงเรียนไปว่า ขออภัยให้กับพวกคนเหล่านั้นเท่านั้นและขอยึดเอาคำของครูบาอาจารย์มาปฏิบัติ  เพื่อจะได้ไม่มีเวรกรรมกันต่อไปในอนาคต  และเพื่อความหลุดพ้นจากวัฎสงสารแห่งนี้เข้ามรรคผลดังที่ครูบาอาจารย์ได้อบรมสั่งสอนมาด้วยความยากลำบาก  เพื่อให้ลูกศิษย์ลูกหาเป็นคนดีและเป็นพระสงฆ์เนื้อนาบุญของพุทธบริษัทต่อไป

          ด้วยผลบุญที่ท่านได้สั่งสมมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน  จึงดลบันดาลให้มีชายชราชาวขมุนำยามาให้ท่านกิน  ให้ท่านทาเป็นเวลา ๓ คืน  เมื่อท่านหายดีแล้ว  ชายชราผู้นั้นก็ได้กลับมาหาท่าน  และได้พูดกับท่านว่า " เป็นผลบุญของเณรน้อยที่ได้สร้างสมมาแต่อดีตถึงปัจจุบันไว้ดีมาก  และมีความกตัญญูเคารพเชื่อฟังพ่อแม่ครูบาอาจารย์ดีมาก  จึงทำให้แผลหายเร็ว  ขอให้เณรน้อยจงหมั่นทำความดีปฏิบัติธรรม  และเคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์ต่อไปอย่าได้ท้อถอย  ไม่ว่าจะมีมารมาขัดขวางอย่างไรก็ดี  ขอเณรน้อยใช้ความดีชนะความไม่ดีทั้งหลาย  ต่อไปในภายภาคหน้าสามเณรน้อยจะได้เป็นพระสงฆ์เนื้อนาบุญของพุทธบริษัทต่อไป "

          เมื่อชายชราผู้นั้นกล่าวจบแล้ว  จึงได้เดินลงจากกุฏิที่ท่านพักอยู่ สามเณรชัยลังก๋านึกได้ยังไม่ได้ถามชื่อแซ่ของชายชราผู้มีพระคุณจึงวิ่งตามลงมา  แต่เดินหาเท่าไรก็ไม่พบชายชราผู้นั้น  ท่านจึงได้สอบถามผู้คนที่อยู่ในบริเวณนั้น  ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่พบเห็นชายชราเช่นนี้มาก่อนเลย  นอกจากเห็นท่านนอนอยู่องค์เดียวในกุฏิ  จากคำพูดของคนเหล่านี้ทำให้ท่านประหลาดใจมาก  เพราะท่านได้พูดคุยกับชายชราผู้นั้นถึง ๓ คืน  เหตุการณ์นี้ทำให้ท่านคิดว่าชายชราผู้นั้นถ้าไม่เป็นเทพแปลงกายมา  ก็อาจจะเป็นผู้ทรงศีลที่บำเพ็ญอยู่ในป่าจนได้อภิญญา

          การกลั่นแกล้งจากพระเณรที่อิจฉาริษยายังไม่สิ้นสุดแค่นั้น  บางครั้งเวลานอนก็ถูกเอาทรายกรอกปาก  ถึงเวลาฉันก็ฉันไม่ได้มาก  เพราะถูกพระเณรที่ไม่เชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษรังแก  หรือหยิบอาหารของท่านไปกิน  แต่ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีความอดทนและยึดมั่นในคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ท่านจึงอโหสิกรรมพวกเขาและใช้ขันติในการปฏิบัติธรรมรับใช้ปรนนิบัติครูบาอาจารย์ด้วยดีต่อไป

          ครูบาชัยลังก๋ามักลูบหัวของท่านด้วยความรักเอ็นดูและสั่งสอนให้ด้วยความเมตตาอยู่เสมอว่า " มันเป็นกรรมเก่าของเณรน้อย  ตุ๊ลุงขอให้เณรน้อยใช้ขันติและความเพียรต่อไป  เพื่อโลกุตตรธรรมอันยิ่งใหญ่ในภายหน้า  เมื่อถึงเวลานั้นแล้วทุกคนที่เคยล่วงเกินเณรน้อย เขาจะรู้กรรมที่ได้ล่วงเกินเณรน้อยมา "

ไปวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม

          ในระยะที่อยู่กับครูบาชัยลังก๋าๆได้เมตตาอบรมสั่งสอนวิชาการต่างๆให้แก่ท่าน เช่น ภาษาล้านนา  ธรรมะ  การปฏิบัติกรรมฐาน  รวมทั้งธุดงควัตร  ตลอดถึงการดำรงชีวิตในป่าขณะธุดงค์  ครูบา-ชัยลังก๋ามักพาท่านไปแสวงบุญและธุดงค์ไปในที่ต่างๆเสมอ  เพื่อให้ท่านมีประสบการณ์  ทั้งยังเคยพาท่านไปนมัสการรอบพระพุทธบาทห้วยต้มหลายครั้ง ( วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  ในสมัยก่อนนั้นชื่อว่า วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม ) สมัยนั้นวัดนี้เป็นวัดร้างยังเป็นเขาอยู่

          ครั้งหนึ่งสามเณรชัยลังก๋าเห็นวิหารทรุดโทรมมาก  จึงกราบเรียนถามครูบาชัยลังก๋า " ทำไมตุ๊ลุงถึงไม่มาสร้างวัดนี้มันทรุดโทรมมาก " ครูบาชัยลังก๋าตอบด้วยความเมตตาว่า " มันไม่ใช่หน้าที่ของตุ๊ลุงแต่จะมีพระน้อยเมืองตื๋นมาสร้าง " ขณะที่ครูบาชัยลังก๋ากล่าวอยู่นั้น  ท่านก็ได้ชี้มือมาที่สามเณรน้อยชัยลังก๋าพร้อมกับกล่าวว่า " อาจจะเป็นเณรน้อยนี้กะบ่ฮู้ที่จะมาบูรณะวัดนี้ " ท่านจึงได้เรียนไปว่า " เฮายังเป็นเณรจะสร้างได้อย่างใด " ครูบาชัยลังก๋าจึงกล่าวตอบไปด้วยความเมตตาว่า " ถึงเวลาจะมาสร้าง  ก็จะมาสร้างเอง "

          คำพูดของครูบาชัยลังก๋านี้ไปพ้องกับคำพูดของครูบาศรีวิชัยที่เคยกล่าวกับหม่องย่นชาวพม่า  เมื่อตอนที่ท่านอายุได้ ๕ ขวบ  ในครั้งนั้นครูบาศรีวิชัยได้รับนิมนต์จากหม่องย่นให้มารับถวายศาลาที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  หม่องย่นให้ขอนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมาบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยต้มให้เจริญรุ่งเรือง  แต่ครูบาศรีวิชัยได้ตอบปฏิเสธไปว่า " ไม่ใช่หน้าที่กู  จะมีพระน้อยเมืองตื๋นมาสร้างในภายภาคหน้า "

          ท่านอยู่กับครูบาชัยลังก๋าที่วัดพระธาตุแก่งสร้อยเป็นเวลา ๑ ปี  หลังจากนั้นครูบาชัยลังก๋าได้ออกจาริกธุดงค์ไปโปรดชาวบ้านที่จังหวัดเชียงราย  ครูบาชัยลังก๋าได้ให้ท่านอยู่เฝ้าวัดกับพระเณรองค์อื่น  ในช่วงที่ท่านอยู่วัดนี้  ท่านก็ได้พบกันครูบาศรีวิชัยเป็นครั้งแรกซึ่งท่านเคารพนับถือครูบาศรีวิชัยมาก่อนหน้านี้แล้ว

          ในครั้งนั้นครูบาศรีวิชัยได้มาเป็นประธานในการฉลองพระธาตุที่วัดพระธาตุแก่งสร้อย  ในโอกาสนี้ท่านจึงได้อยู่ใกล้ชิดปรนนิบัติรับใช้ครูบาศรีวิชัยเป็นเวลา ๗ วัน  การพบกันครั้งแรกนี้ ครูบาศรีวิชัยก็ได้รับท่านไว้เป็นศิษย์ตั้งแต่นั้นมา  หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ผ่านพ้นไปแล้ว ท่านก็ยังประจำอยู่ที่วัดพระธาตุแก่งสร้อยได้ไม่นาน  เพราะทนต่อการกลั่นแกล้งจากพระเณรอื่นไม่ไหว  จึงได้เดินทางกลับมาอยู่กับหลวงน้าของท่านเพื่อช่วยสร้างพระวิหารที่วัดก้อท่าซึ่งเป็นวัดร้างประจำหมู่บ้านก้อท่า ตำบลก้อทุ่ง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน

          ในระหว่างอายุ ๑๕-๒๐ ปีนั้น  ท่านได้ติดตามครูบาอาจารย์หลายองค์  และได้จาริกออกธุดงค์  ปฏิบัติธรรมตามที่ต่างๆ  ตลอดจนได้ไปอบรมสั่งสอนชาวบ้านชาวเขาในที่ต่างๆด้วยเช่นกัน  ในบางครั้งก็ไปกับครูบาอาจารย์  ในบางครั้งก็ไปองค์เดียวเพียงลำพัง  เมื่อมีโอกาสท่านก็จะกลับมารับการฝึกอบรมจากครูบาอาจารย์ทุกองค์ของท่านเสมอๆ

 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

          เมื่ออายุ ๒๐ ปี  ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  โดยมีครูบาพรหมจักร วัดพระบาทตากผ้าเป็นอุปัชฌาย์  ได้รับฉายาว่า " ชัยยะวงศา "  ในระหว่างนั้น ท่านได้อยู่ปฏิบัติและศึกษาธรรมะกับครูบาพรหมจักร  ในบางโอกาสท่านก็จะเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปในที่ต่างๆทั้งลาวและพม่า  ท่านได้อยู่กับครูบาพรหมจักรระยะหนึ่งแล้ว  จึงได้กราบลาครูบาพรหมจักรออกจาริกธุดงค์ไปแสวงหาสัจจธรรมความหลุดพ้นจากวัฏสงสารแห่งนี้เพียงลำพังองค์เดียวต่อ  เพื่อเผยแพร่สั่งสอนธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับพวกชาวเขาในที่ต่างๆเช่นเคย

สอนธรรมะแก่ชาวเขา

          ขณะที่ท่านธุดงค์ไปในที่ต่างๆ  ท่านได้พบและอบรมสั่งสอนธรรมะของพระพุทธองค์ให้กับชาวบ้านและชาวเขาในที่ต่างๆ  ท่านเล่าว่า ตอนที่ท่านพบชาวเขาใหม่ๆนั้น  ในสมัยนั้นชาวเขาส่วนใหญ่ยังไม่ได้นับถือพุทธศาสนา  ในขณะที่ท่านจาริกธุดงค์ไปตามหมู่บ้านของพวกชาวเขา  พวกชาวเขาเหล่านี้ก็จะรีบอุ้มลูกจูงหลานหลบเข้าบ้านเงียบหายกันหมดพร้อมกับตะโกนบอกต่อๆกันว่า " ผีตาวอดมาแล้วๆๆ "

 
โดย : เอก บางขุนเทียน    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 1 ] Fri 7, Mar 2014 18:06:58









 

เกร็ดประวัติหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศา ๑

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม ต.นาทราย อ.ลี้ จ.ลำพูน

ข้อมูลจาก เวปพระรัตนตรัย กระดานสนทนาธรรม กระทู้ที่ 01107 โดย คุณ : คนรู้น้อย   23-06-2003

เนื้อความ :

“เรื่องราวในตอนแถมพกนี้ ขอเรียนว่าเป็นการเขียนถึง หลวงปู่คำแสนใหญ่ หรือพระครูสุคันธศีล แห่งวัดสวนดอก, หลวงปู่ครูบาวงศ์ฯ หรือ พระครูใบฎีกาชัยยะวงศา แห่งวัดพระบาทห้วย (ข้าว) ต้ม ราชากะเหรี่ยง , หลวงปู่ครูบาธรรมชัย แห่งวัดทุ่งหลวง, หลวงปู่แหวน สุจิณโน แห่งวัดดอยแม่ปั๋ง, หลวงปู่บุดดา ถาวโร และ พระอาจารย์โกวิน แห่งสำนักสงฆ์ไผ่รื่นรมย์ ในแบบมวยหมู่เลยครับ ไม่เช่นนั้นหนังสือเล่มนี้ จะยาวเกินไปจนต้องแบ่งเป็น เล่ม ๑ และ เล่ม ๒ ไม่ทันกินครับ เพราะในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ นี้ ผมจะต้องเข็นเขียนให้จบ ๑ เล่มตามที่ได้รับปากเอาไว้กับหลวงพ่อ (ฤๅษีฯ) ให้จงได้ เรื่องยาวๆ เอาไว้คราวหน้าครับ คราวนี้จะเอาสั้นๆ ที่พอจะนึกออก และเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับเรื่อง ในตอนก่อนๆ ที่ได้เล่าไปแล้ว

(ตัดตอนเอามาเฉพาะเรื่องหลวงปู่ครูบาชัยยะวงศาพัฒนา วัดพระบาทห้วยต้ม)

ครูบาขาวปี

ประวัติหลวงปู่ฯ และความเป็นมาผมคงจะไม่เขียนให้ยืดยาว เพราะว่าได้มีลูกศิษย์ลูกหาของหลวงปู่ฯ นำไปเขียนรวมเล่มแล้วยาวเหยียด ดังนั้นผมจึงจะเขียนเฉพาะที่หนังสือเล่มดังกล่าวไม่ได้เขียนเอาไว้ และที่สำคัญก็คือเรื่อง ไอ้ “วัวหำคด” ที่ได้อ้างค้างเอาไว้ ในตอนก่อนหน้านี้ ก็จะนำมาเล่าในตอนนี้แหละครับ

ถ้าพวกเราสังเกต จะพบว่าศิษย์สายครูบาเจ้าศรีวิชัย มักจะพบวิบากกรรมเฉกเช่นครูบาอาจารย์ของท่าน หลายองค์ เช่นท่านครูบาอภิชัยปี ถูกบังคับจับสึก แต่ใจท่านไม่ยอมสึกตามไปด้วยยังคงถือวัตรปฏิบัติ เช่นเดียวกับพระภิกษุสงฆ์ เพียงแต่นุ่งขาวห่มขาว เกิดเป็นศัพท์ใหม่ที่ชาวบ้านเรียกกันเองว่า “ผ้าขาว”

หลวงปู่ครูบาวงศ์ฯ ก็เช่นเดียวกัน ถูกบังคับจับสึก ต้องเป็นผ้าขาววงศ์ฯ อยู่ถึง ๔ ปี อธิกรณ์ที่ตั้งก็ตั้งกันไป โดยกลุ่มของเสือเหลืองที่เรืองอำนาจอยู่ในพุทธจักรสมัยนั้น ซึ่งดูเหมือนจะพากเพียรเหลือเกินในอันที่จะสึกพระที่เป็นพระแท้ พระปฏิบัติ พระพัฒนา ให้จงได้

อธิกรณ์ส่วนใหญ่มักจะกล่าวหาเหมือนๆ กันอยู่ข้อหนึ่งก็คือ “ซ่องสุม” ผู้คน ถ้าเป็นสมัยนี้หลวงพ่อฯ คงแย่เลยครับ เพราะซ่องสุมผู้คนเป็นแสนๆ ป่านนี้ต้องคอยแก้อธิกรณ์กันอย่างเดียวให้กลุ้มไป ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว (อธิกรณ์นั้นก็เหมือนกับข้อกล่าวหา ซึ่งจะต้องมีการบรรยาย เหมือนกับการบรรยายคำฟ้องคดีต่อศาลนั่นแหละครับ)

แต่ถ้าลองไปอ่านข้อความที่เขาบรรยายในอธิกรณ์ที่ตั้งฟ้องครูบาเจ้าศรีวิชัยดู เราจะรู้สึกว่าเป็นตลกร้ายทีเดียวแหละครับ คำบรรยายฟ้องนั้นเหมือนกับคนร่างฟ้องนั้น ฟ้องตนเอง ว่าไม่มีคุณสมบัติที่ดีวิเศษ เฉกเช่นครูบาเจ้าศรีวิชัย จึงอิจฉาริษยาจนเนื้อตัวสั่นต้องเอามาฟ้อง เช่น ฟ้องว่าครูบาเจ้าทำตัวเป็นผู้วิเศษ เวลาเดินทางไม่ใช้เท้าเดินไปเช่นเดียวกับที่ผู้อื่นกระทำ แต่ได้ใช้วิธีเหินไป (เหิน เป็นอาการเคลื่อนไหวอย่างหนึ่งซึ่งใกล้เคียงกับเหาะ แต่เป็นการเหาะแบบเรี่ยๆ พื้นดินนั่นเอง)

เราลองมาพิจารณาศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวเหนือ ที่กระทำกันให้เราท่านเห็นอยู่เนืองๆ ก็คือ ถ้าพระภิกษุองค์ไหนที่เขาเชื่อถือศรัทธาผ่านมา ชายก็จะทอดกายลงนอนบนทาง หญิงก็จะสยายมวยผมสลัดออกปูบนทาง รองบาทพระคุณเจ้าผู้คนเป็นหมื่นๆ ทำเช่นนี้ไม่ว่าครูบาเจ้าจะไปทางไหน

ทีนี้หลังคนนั้นมันไม่เรียบ การเดินย่ำไปนั้นดีไม่ดีคนเดินนั่นแหละ ไม่เกินห้าก้าวสิบก้าว ไม่ปากก็หัวแตก ซึ่งเป็นการลำบากไม่สะดวก และท่านก็คงไม่อยากที่จะเหยียบย่ำลงไปจริงๆ แต่เพื่อเป็นการฉลองศรัทธา และเมื่อท่านสามารถเหินได้ ท่านก็เลยเหินเรี่ยๆ พื้นพอให้พ้น ไม่ได้ตั้งใจจะโชว์หรอกครับ แต่พวกขี้อิจฉาดันไปเห็นเองก็เลยคาบมาฟ้อง

ครูบาศรีวิชัยถ่ายคราวถูกกักขัง ณ ศาลาบาตร

วัดศรีดอนไชย เมืองเชียงใหม่

การพิจารณาอธิกรณ์นั้นก็ไม่ได้ถกเถียงกันว่า เหินได้จริงหรือไม่จริง แต่รับกันว่าได้เหินจริง และเหินได้จริง เพียงแต่จะผิดพระวินัยหรือไม่เท่านั้น และในที่สุดท่านก็ให้ยกอธิกรณ์นั้นเสีย สาธุ ... ยังโชคดีที่พระผู้ใหญ่ท่านไม่เชื่อเปรตสอพลอ

ย้อนมาเรื่องหลวงปู่ครูบาวงศ์ฯ สมัยที่ผมเป็นผู้บังคับหมวด ตชด. อยู่ที่ กก.พตท.เขต ๕ ค่ายดารารัศมี (พตท.เขต ๕ คือ พลเรือน ทหาร ตำรวจ) รายงานว่าพบพระสงฆ์องค์หนึ่ง สงสัยว่าน่าจะเป็นบุคคลต่างชาติอำพรางตนเป็นพระ ซ่องสุมพวกกะเหรี่ยงจำนวนมากอยู่ที่ อ.ลี้ มีการปลุกระดมกันทุกคืน สร้างหอประชุมไว้ใหญ่โตมาก หอประชุมก็สงสัยว่าน่าจะเป็นไม้เถื่อน ให้ส่ง ตชด.ไปสืบสวน ถ้าพบการกระทำผิดให้จับกุมคุมขัง และให้ดำเนินคดีโดยเฉียบขาด

พระองค์นี้ก็คือ หลวงปู่ครูบาวงศ์ฯนั่นเอง

ศรัทธาของชาวกะเหรี่ยง

เพื่อนผมคนหนึ่งที่ได้รับมอบหมายมาหารือกับผม ผมจึงแนะนำให้ปลอมตัวเป็นชาวบ้าน ไปดูเหตุการณ์ อย่าเพิ่งทำอะไรให้มันบุ่มบ่ามเดี๋ยวจะพลาดลงนรก มันก็เชื่อครับ

พอมันกลับมามันก็ด่าพ่อล่อแม่คนสั่งเสียลั่นค่าย ใส่ไม่ทันนับคะแนนให้ไปเลยครับ มันเล่าว่าพอตกค่ำพระองค์นั้นก็นำกะเหรี่ยงทั้งหมู่บ้านนับได้เป็นพันๆ คนล้นห้องประชุม สวดมนต์ทำวัตรเย็น แล้วก็เทศน์เป็นภาษากะเหรี่ยง (ที่รู้เพราะได้นำกะเหรี่ยงแหล่งข่าวติดตามไปด้วย) เทศน์จบแล้วก็สอนกรรมฐาน กะเหรี่ยงนั่งหลับตาภาวนานับลูกประคำกันเป็นทิวแถว

มันโวยวายว่า ไอ้จระเข้น้อย เอ๊ย มารดางู ! หาว่าพระท่านซ่องสุมผู้คนก่อการร้าย กูไม่เคยพบเคยเห็น ผู้คนมากมายศรัทธาในพระศาสนาออกอย่างนี้ ห้องประชุมที่มันรายงานมาที่แท้เป็นศาลาฟังธรรมว่ะ ยาวตั้ง ๑๐๐ เมตร อย่างนั้นยังไม่พอบรรจุ ผู้คนล้นออกไปนอกศาลา มากกว่าที่ได้อยู่ข้างในเสียอีกบานเบอะ ไอ้ฉิบหาไม่เจอ เกือบทำกูลงนรกไปแล้ว ไม้ถ่งไม้เถื่อนกูไม่สนใจแล้ว ท่านไม่ได้ตัดเองนี่หว่า ซื้อบ้าง กะเหรี่ยงตัดมาถวายบ้าง กูไปอยู่ ๗ วันแทบลงแดงตาย มันแดกผักกันทั้งบ้านทั้งเมือง ขี้งี้เขียวปี๋เลยกู ถ้าท่านจะสร้างเพิ่มเติมอีก คราวนี้กูจะไปตัดให้เอง มึงคอยดู

ไอ้เพื่อนผมคนนี้ปกติมันไม่ค่อยจะเข้าวัดเข้าวาหรอกครับ ก็เหมือนกับผมในสมัยนั้น ส่วนใหญ่ก็จะไปแค่ใกล้ๆ กำแพงก็พอแล้ว ไม่เว้นวันพระวันโกน แต่ไม่ใช่กำแพงวัดครับ เป็นกำแพงดิน (สำนักบริการ ... อยู่ที่ จ.เชียงใหม่) ระยำจริงๆ พวกผมนี่...

เป็นอันว่าหลวงปู่ครูบาวงศ์ฯนั้น ก็รอดจากการถูกจับสึกเป็นครั้งที่สอง ส่วนเพื่อนของผมเองนั้น ก็รอดจากนรกไป เส้นยาแดงผ่าแปด

๑. คุณเฉิดศรี ศุขสวัสดิ์ ๒. พล.ต.ชวาล กาญจนกุล

๓. หลวงปู่คำแสน (เล็ก) ๔. หลวงปู่ชุ่ม ๕. หลวงปู่ธรรมชัย

๖. หลวงปู่สิม ๗. หลวงพ่อพระมหาวีระ ๘. ม.ร.ว.เสริม ศุขสวัสดิ์
(อธิบายภาพโดย - เว็บวัดท่าซุง)

มีอยู่ครั้งหนึ่งที่คณะของเราไปแจกสิ่งของ และเครื่อง ลาง ของขลัง เพื่อเป็นกำลังใจให้กับนักรบชายแดน ไม่ว่าจะเป็นตำรวจทหาร หรือพลเรือน ขากลับเราแวะรับหลวงปู่ครูบาวงศ์ฯ เดินทางมาโดยรถบัสคันเดียวกัน

หลวงปู่ฯ ท่านรื่นเริงมาก เดี๋ยวก็เดินไปนั่งคุยกับคนนั้นคนโน้นไม่ได้หยุด ผมนั้นกำลังเคร่งขรึม เพราะพอใกล้จะถึงบ้านก็เหมือนใกล้ถึงนรก ซึ่งที่จริงแล้วนรกมันอยู่ในใจของผมนั่นเอง ผมกำลังคิดจะเปลี่ยนภริยาใหม่ครับ เป็นผู้หญิงคนใหม่ที่สวยสด การศึกษาดี มีทรัพย์สมบัติ และยินยอมพร้อมใจกับผมทุกอย่าง กำลังรอคอยคำตอบจากผม ขอเพียงให้ผมตอบเธอว่าตกลงเท่านั้น ผมก็จะพ้นจากนรกขุมเก่าทันที (ไปลงนรกขุมใหม่)

หลวงปู่ฯ ท่านได้เดินมานั่งข้างๆ ผม ถามว่า คืนนี้จะค้างที่บ้านสายลมหรือเปล่า

ผมตอบปฏิเสธ

ท่านมองหน้าผมแล้วก็พูดขึ้นมาดังๆ ท่ามกลางคนหมู่มากที่กำลังสนใจอยู่ว่า รู้จัก “วัวหำคด” ไหม ?

ผมส่ายหน้าว่าไม่รู้จัก

ท่านก็อธิบายทันทีว่า วัวหนุ่มกำลังคึกคะนอง แต่โชคร้าย มันเกิดมาหำคดจึงทับตัวเมียไม่สำเร็จ ทำให้มันคลุ้มคลั่งเป็นบ้าเป็นบอไป

ผมนึกในใจ เอ๊ะ ! นี่ท่านกำลังด่าผมอยู่หรือเปล่านะเนี่ย

หลวงปู่ฯ ซึ่งกำลังจ้องหน้าผมอย่างเอาจริงเอาจัง พยักหน้ารับ แต่ไม่ได้พูด

เป็นอันรู้กันสองคนว่าท่านกำลังว่าผม

ท่านว่าอีกว่า วัวมันโง่ไม่มีความคิด ไม่รู้จักแก้ไข เราเป็นคนใช้หัวสมองแก้ไขได้ คืนนี้อยู่นวดให้หลวงปู่ฯ หลวงพ่อฯ ที่บ้านสายลมจะดีกว่านะ

ผมก้มหน้านิ่งอึ้งไป ในที่สุดก็ตอบท่านไปว่า ไม่หรอกครับ ที่หลวงปู่ฯ เตือนนั้นผมเข้าใจ ผมคิดได้แล้ว และจะรีบไปแก้ไขปัญหาด้วยหัวสมอง

หลวงปู่ฯ ท่านเอามือจับศีรษะผมแล้วภาวนาให้ศีลให้พรยาวเหยียด ขนาดผมที่นั่งฟังยังเหนื่อยแทน เสร็จแล้วท่านก็เป่าพรวดบอกว่า เอ้า! ดีแล้ว ไปได้ ไปสู้กับเขาได้แล้วทีนี้

และผมก็สามารถรอดพ้นจากบ่วงกรรมไปได้อีกครั้งหนึ่ง เพราะไอ้วัวหำคดตัวนั้นนั่นเอง

หลวงปู่ครูบาวงศ์ฯ นับเป็นพระสุปฏิปันโนที่อ่อนอาวุโสในเรื่องวัยวุฒิที่สุดเท่าที่พวกเราได้พบมา แต่แปลกนะครับเราเรียกหลวงปู่ฯ ว่าหลวงปู่ฯ แต่กลับเรียกหลวงพ่อฯ ซึ่งวัยวุฒิสูงกว่าว่าหลวงพ่อฯ

หลวงปู่ทืมฯ

หลวงปู่ฯ กับหลวงปู่ฯ ทืมฯ นับว่าเป็นพระที่สนิมสนมกันมาก เมื่อหลวงปู่ทืมฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูปลัดฯ ในท่านเจ้าคุณราช เจ้าอาวาสวัดจามเทวี ได้ขอตำแหน่งพระครูใบฎีกา ให้กับหลวงปู่วงศ์ฯ ด้วย ไปไหนก็มักจะไปด้วยกัน ทำอะไรก็มักจะคิดร่วมกัน ทำร่วมกันมาโดยตลอด

ส่วนใหญ่หลวงปู่ทืมฯ คิด แต่ให้หลวงปู่วงศ์ฯ ทำ เพราะหลวงปู่ทืมฯ ไม่แข็งแรง ส่วนหลวงปู่วงศ์ฯ โน่น! พบกันคราวใดมักจะเห็นอยู่บนนั่งร้านหรือไม่ก็บนหลังคา ไม่ศาลาก็โบสถ์ ลงมือสร้างเองมุงเองเสร็จถาวรวัตถุในพระศาสนา

หลวงพ่อของพวกเราก็ไม่เบานะครับ สมัยก่อนโน้นที่ท่านเล่าว่าติดตามหลวงพ่อปานฯ ไปสร้างถาวรวัตถุในพระศาสนาตามที่ต่างๆ สมัยโบราณท่านลงไม้ลงมือไสไม้เทปูนมุงหลังคาเป็นช่างไปในตัว ลงมือเองครับไม่ใช่เพียงแค่คุมช่างหรือสั่งการ

สมัยที่ผมยังบวชและปฏิบัติอยู่กับหลวงพ่อฯ ๆ ก็จะลงมาคุมการก่อสร้างทุกวันไม่เคยขาด ถ้าไม่มีกิจสำคัญอย่างอื่น ท่านคุมไปสั่งงานการก่อสร้างไปแล้วก็เล่าเรื่องเก่าๆ ขำๆ เกี่ยวกับการก่อสร้าง และการก่อสร้างหรือตระเตรียมการงานต่างๆ กว่าจะได้แค่คืบ แค่ศอกก็แทบจะหืดขึ้นคอ ปัจจัยกว่าจะได้สักบาทสักสลึงไม่ใช่ว่าจะได้มาง่ายๆ ต้องตะลอนๆ ไปตามที่ต่างๆ อย่างเหน็ดเหนื่อยสายตัวแทบขาด และการสร้างของหลวงพ่อฯ นั้น จะยึดหลักดังนี้

๑. ราคาถูกที่สุด

๒. คุณภาพดีที่สุด (ไม่เฉพาะเรื่องความมั่นคงแข็งแรงเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงความสวยงามและความเป็นระเบียบถูกแบบแผนด้วย)

๓. รวดเร็วที่สุด (และต้องทันเวลาด้วย)

๔. จ่ายเงินตามเวลาที่นัดไว้

๕. มีของแถม

เฉพาะ ๔ ข้อแรกก็ต้องนับว่ายอดเยี่ยมทำได้ยากแล้ว แต่ข้อ ๕ นี่ซีครับจึงจะนับว่า น่าทึ่ง ในความสามารถของหลวงพ่อฯ เป็นที่สุด

ในสมัยที่ผมได้อยู่ใกล้ชิดและมีโอกาสติดตามหลวงพ่อฯ มักจะได้ยินได้ฟังการพูดคุยและเจรจาระหว่างนายช่างผู้รับเหมากับหลวงพ่อฯ เสมอๆ ซึ่งทุกครั้งดูเหมือนหลวงพ่อฯ จะต้องกลายเป็นผู้คอยแนะนำและชี้ช่อง หรือวิธีการในการก่อสร้างที่จะให้บังเกิดผล ตามที่ได้กล่าวเอาไว้ใน ๓ ข้อแรกเสมอๆ และเทคนิคที่หลวงพ่อฯ แนะนำให้กับผู้รับเหมา มักจะเป็นสิ่งที่เขาไม่คาดคิดมาก่อน บางเรื่องเหมือนเส้นผมบังภูเขา ซึ่งเมื่อเขาได้ไตร่ตรองดูแล้วก็มักจะพบว่าถ้าทำตามหลวงพ่อฯ แล้วงานของเขาจะง่ายเข้า เร็วขึ้นแถมต้นทุนก็จะลดลง ทำให้เขามีกำไรมากกว่าเท่าที่เคยประมาณการมา เขาจึงอดไม่ได้ที่จะต้องเสนอการก่อสร้างเพิ่มขึ้นให้ฟรีๆ เป็นของแถมให้กับหลวงพ่อฯ เสมอๆ นี่แหละผมถึงว่า มีของแถม

เรื่องราวต่างๆ ที่ผมได้เล่ามาทั้งหมด ในตอน “แถมพก” นี้จำเป็นต้องยุติลงเป็นการชั่วคราวเพียงเท่านี้ก่อน ในส่วนที่ยังไม่ได้เขียนแต่ขอผลัดไว้ในโอกาสหน้านั้น เท่าที่วางเค้าโครงเรื่องไว้แล้วและขอยกมาเป็นตัวอย่างก็มี เรื่องหลวงปู่แหวนฯ, หลวงปู่ครูบาธรรมชัยฯ, หลวงปู่บุดดา ถาวโร, อาจารย์โกวิน วัดไผ่รื่นรมย์, หลวงพ่อโสธร, จิตเข้าถึงฌานในครั้งแรกได้อย่างไร, หัดเดินบนน้ำข้างกุฏิเรือนแพ, แม่ครูอสุภกรรมฐานของผม, นั่งสามล้อชมเมืองอุทัยฯ กับหลวงพ่อฯ , หลวงพ่อฯ พกเครื่อง ลาง, ดร. Insect, หลวงพ่อถูกทางหลวงไถ, ผีที่วัดหลวงตาแสง ฯลฯ เป็นต้น ต้องคอยติดตามเล่มที่ ๒ แล้วละครับ พระเดชพระคุณ”

 
โดย : เอก บางขุนเทียน    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 2 ] Fri 7, Mar 2014 18:12:54





 

เหรียญสร้างอุโบสถวัดแม่หว่าง ลำพูน ปี 2541 ...ท่านอธิฐานจิต เป็นอย่างดี.....

 
โดย : เอก บางขุนเทียน    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 3 ] Fri 7, Mar 2014 18:18:42









 
 
โดย : เอก บางขุนเทียน    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 4 ] Fri 7, Mar 2014 18:48:33









 
 
โดย : เอก บางขุนเทียน    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 5 ] Fri 7, Mar 2014 18:49:34









 

เหรียญครูบาศรี ปี12 วัดพันอ้น

 
โดย : เอก บางขุนเทียน    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 6 ] Fri 7, Mar 2014 18:52:23









 

ครูบาดวงดี วัดท่าจำปี ผิหิ้ง....

 
โดย : เอก บางขุนเทียน    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 7 ] Fri 7, Mar 2014 18:53:49

 

ตำนานพระล้านนา "พระกริ่งเอกาทศรถ วัดพันอ้น2513" หนังสือSPIRIT ฉบับที่73 เดือนมิถุนายน 2555

         

ตำนานพระล้านนา "พระกริ่งเอกาทศรถ วัดพันอ้น2513" หนังสือSPIRIT ฉบับที่73 เดือนมิถุนายน 2555

 

 

 
โดย : เอก บางขุนเทียน    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 8 ] Wed 20, Aug 2014 11:44:15

 

ให้เช่าบูชาไปหมดแล้ว ขอบคุณมากครับ

 
โดย : เอก บางขุนเทียน    [Feedback +0 -0] [+0 -0]   [ 9 ] Tue 17, May 2016 19:57:44

 
เหรียญครูบาชัยวงษา วัดพุทธบาทห้วยต้ม : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.