พระล้านนาดอทคอม แหล่งรวมพระเครื่องเมืองเหนือ
โชว์พระกรุทั่วไป

พระกรุ วัดพลับ กรุงเทพมหานครฯ

   
 

พระวัดพลับ
จ.ส.อ.เอนก เจกโพธิ์

พระวัดพลับ
พิมพ์สมาธิ-เข่ากว้าง-เล็ก

"พระวัดพลับเป็นพระกรุ ทำด้วยผงสีขาวผสมปูนปั้น เนื้อแข็งขาวพระนั่งสมาธิ
มีทั้งใหญ่และเล็ก อย่างเล็กประมาณเท่าเบี้ยจั่น กับทำพระนอน และพระปิดตาก็มี
แต่หาก็หาได้น้อย ที่ทำเป็น 2 หน้าก็มี แต่หายากมีน้อย และพบทำด้วยตะกั่วก็มี
มักทำแต่ขนาดเล็ก"

(จากข้อความหนังสือพระพิมพ์เครื่องรางโดย ร.อ.หลวงบรรณยุทธชำนาญ ปรมาจารย์ทางพระเครื่องที่ได้ล่วงลับไปแล้วบันทึกไว้แต่ไม่มีรายละเอียด)

ก่อนเข้าสู่เป้าหมายของเรื่องพระขอกล่าวถึงประวัติของวัดพลับ และอธิบดีสงฆ์
องค์แรกของวัดนี้ก่อนพอสังเขป

"วัดพลับ" เดิมเป็นวัดโบราณตั้งอยู่ใกล้คลองบางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี
(ปัจจุบันจังหวัดธนบุรีรวมเขตกับจังหวัดกรุงเทพ ตั้งชื่อใหม่ว่า กรุงเทพมหานคร) มีมานานแล้วตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาอยู่ต่อหรือถัดจากวัดราชสิทธาราม เดี๋ยวนี้
ขึ้นไปทางทิศตะวันตกเมื่อรัชกาลที่ 1 ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติแล้วได้นิมนต์
"พระอาจารย์สุก" ซึ่งเป็นพระอาจารย์จากอยุธยา ให้ลงมาอยู่ในกรุงเทพ "พระอาจารย์สุก" ขออยู่วัดฝ่ายอรัญวาสี ที่สงัดเงียบสงบเพื่อบำเพ็ญวิปัสสนาธุระ ไม่ชอบอยู่ในวัดในบ้านเมือง

รัชกาลที่ 1ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตามอัธยาศัยและสร้างวัดราชสิทธาราม
ขึ้น เพื่อให้สมพระเกียรติที่เป็นพระอาจารย์ถวายให้อยู่จำพรรษา กับแต่งตั้งให้เป็น
พระราชาคณะที่ "พระญาณสังวร" เมื่อ พ.ศ..2326 ปีที่สร้างกรุงเทพเป็นเมืองหลวง
นั่นแหละ เมื่อได้สร้างวัดราชสิทธารามขึ้นมาแล้ว จึงโปรดเกล้าให้รวม "วัดพลับ"
เข้าในเขต "วัดราชสิทธาราม"ด้วยราษฎรจึงยังคงเรียกชื่อ "วัดราชสิทธาราม" ว่า
"วัดพลับ" โดยทั่วไปตราบเท่าทุกวันนี้

ส่วน"พระอาจารย์สุก" นั้นต่อมาในรัชกาลที่ 2 พ.ศ.2363 โปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็น"สมเด็จพระสังฆราช" โปรดให้แห่
จากวัดพลับมาอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ท่าพระจันทร์ เพียงปีเดียวก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2365
พระชันษา 90 ปี

สรุปแล้วท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดพลับนานถึง 38 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2325 ถึง พ.ศ. 2363

สมัยก่อนวัดพลับอาจจะมีไก่ชุกชุมคนทั้งปวงจึงเรียกท่านเป็น ฉายาติดปากกันมาว่า "สมเด็จพระสังฆราชสุก ไก่เถื่อน"
เพราะท่านมีภาวนาแก่กล้า สามารถเลี้ยงไก่ป่า ให้เชื่องได้ ตามคุณวิเศษที่ปรากฎ

สมเด็จพระสังฆราช สุก ไก่เถื่อน องค์นี้แหละ เป็นผู้ปลุกเสกพระสมเด็จวัดพลับ

ประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)

ประวัติสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียก
ชื่อท่านว่า "สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน" ส่วนสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ชื่อ (สุขหรือสุก) เหมือนกัน
สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ ระหว่างปี พ.ศ. 2337-2359 ในสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน
องค์นี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ในหนังสือเรื่องตำนานวัดมหาธาตุว่า..

สมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน ท่านเกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน 2 ขึ้น 10 ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช 1095 ตรงกับวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.
2276 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ์ กรุงศรีอยุธยา สันนิษฐานกันว่าคงจะเป็นชาวกรุงเก่า ปรากฏในหนังสือพงศาวดารว่า
เมื่อครั้งกรุงธนบุรี เป็นอธิการอยู่วัดท่าหอยริมคลองคูจาม (ในพงศาวดารเรียกว่าคลองตะเคียน)ในแขวงรอบกรุงเก่า มีพระ
เกียรติคุณในทางบำเพ็ญสมถภาวนา ผู้คนนับถือมาก

ครั้น พ.ศ. 2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ให้สร้างวัดราชสิทธาราม
ขึ้นแลัวโปรดให้นิมนต์พระอาจารย์ (สุก) วัดท่าหอย คลองตะเคียน แขวงกรุงเก่า มาเป็นเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดราชสิทธาราม
เข้าใจว่าพระอาจารย์สุกองค์นี้ รัชกาลที่ 1 เคารพนับถือเป็นอาจารย์ของพระองค์ก่อนอยู่แล้ว

สมเด็จพระสังฆราช(สุก) ทรงเป็นที่เคารพนับถือเป็นอันมากของพระบรมวงศ์มาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 เพราะปรากฎใน
จดหมายเหตุทรงผนวชเจ้านายในรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ปรากฎนามพระญาณสังวรเป็นพระกรรมวาจาจารย์แทบทุกพระองค์
เป็นพระราชอุปัชฌาย์จารย์ของรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ด้วย

สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) หรือสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) หรือสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน เป็นองค์เดียวกัน
แต่เรียกชื่อเป็นหลายชื่อ มาครองวัดราชสิทธาราม เป็นเจ้าอาวาสองค์แรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2325 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2363 รวม
ระยะเวลา 38 ปีเต็ม จนกระทั่งได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระสังฆราชในปลายรัชกาลที่ 2 ขณะนั้นพระชนมายุได้ 88 ปีแล้ว
แห่มาอยู่วัดมหาธาตุไม่ถึง 2 ปี ก็สิ้นพระชนม์ ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ 1 ปี กับ 10 เดือน สิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดี
เดือน 10 ขึ้น 13 ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ.2365 ครั้นพระราชทานเพลิงศพแล้วโปรดเกล้าฯให้ปั้นพระรูปบรรจุอัฐิ ประดิษฐานไว้ใน
กุฏิกรรมฐานหลังหนึ่ง บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ วัดราชสิทธารามเพื่อเป็นที่ทรงสักการะบูชาตลอดจนสานุศิษย์และผู้เคารพ
นับถือสืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

นอกจากนี้รัชกาลที่ 3 ยังโปรดให้ช่างหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เท่าองค์จริง ขึ้นเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2387
ค้างอยู่ที่วัดพระแก้ว ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้เชิญไปสถิตอยู่ในพระวิหารวัดมหาธาตุ ตั้งแต่ พ.ศ. 2395 มาจนทุกวันนี้

ที่มาของคำว่า "ไก่เถื่อน" นั้นมาเพราะ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เมื่อครั้งอยู่ที่วัดราชสิทธาราม ท่านมีความ
สามารถเรียกไก่ป่าให้มารุมล้อมพระองค์เต็มไปหมด เหมือนยังกับเลี้ยงฝูงไก่บ้าน เป็นเหตุให้พระองค์ได้รับสมญานามว่า
"พระสังฆราชไก่เถื่อน" พระคาถาของพระยาไก่เถื่อนของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ที่เชื่อถือสืบต่อกันมา ผู้ใด
ภาวนาแล้วจะเกิดเป็นพลังรังสีแผ่กระจายออกไปเป็นเมตตามหานิยมและเสน่ห์ต่อผู้เจริญภาวนาพระคาถานี้

ผู้ใดสนใจก็ไปทดลองดูนะครับ พระคาถามีดังนี้
เวทาสากุ กุสาทาเว ทายะสาตะ ตะสายะทา สาสาทิกุ กุทิสาสา กูตะกุภู ภูกุตะกุ

ประวัติของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) หรือสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อน พระอาจารย์องค์หนึ่งของสมเด็จ
พระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มีอยู่คร่าวๆพอสังเขปเพียงเท่านี้ และสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อนองค์นี้แหละที่เชื่อว่าเป็นผู้สร้าง
และปลุกเสกพระวัดพลับ อันลือลั่นและเกรียงไกรในด้านพุทธคุณ เมื่อก่อนเรียกขานกันว่า "พระสมเด็จวัดพลับ" ในปัจจุบันเรียกว่า
"พระวัดพลับ" เฉยๆ เป็นพระอมตะที่เด่นและดังเป็นเวลายาวนานมาแล้วในอดีต และในปัจจุบันก็ยังมีชื่อเสียงเกียรติคุณมีผู้คน
เสาะแสวงหาเอาไว้คุ้มครองรักษาตัวกันอย่างไม่เสื่อมคลาย ซึ่งประเดี๋ยวเราจะว่ากันในรายละเอียดต่อไป

ใครสร้างพระวัดพลับ

พระวัดพลับเป็นพระกรุ เป็นของเก่าโบร่ำโบราณนานปี มีอายุ 100 กว่าปีแล้ว ยังหาหลักฐานไม่ได้ว่าใครเป็นผู้สร้าง?
และสร้างไว้เมื่อใด? แต่สันนิษฐานกันเป็น 2 ประการ

ประการแรกสันนิษฐานกันว่าสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) หรือสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อนเป็นผู้สร้างและปลุกเสก
เพราะท่านมาจำพรรษาอยู่ที่วัดพลับเป็นเวลายาวนานถึง 38 ปีเต็ม คือมาดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพลับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2325
ในสมัยรัชกาลที่ 1 ถึงปี พ.ศ. 2363 ในสมัยรัชกาลที่ 2 เหตุผลที่สนับสนุนเรื่องนี้ก็คือ

1. พระวัดพลับ คนรุ่นเก่าก่อนเรียกชื่อว่า "พระสมเด็จวัดพลับ" คนรุ่นก่อนคงจะรู้ระแคะระคายที่เล่าขานสืบต่อกันมา
ว่า ผู้สร้างคือสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) หรือ (สุก ญาณสังวร) ผู้สร้างมีสมณศักดิ์เป็นถึงพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ จึงได้
นำชื่อผู้สร้างมาตั้งเป็นชื่อพระก็เป็นได้ ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมาจากนักเลงพระรุ่นเก่าอย่างนั้น

2. พระวัดโค่ง จังหวัดอุทัยธานี มีพิมพ์พระเนื้อเหมือนกันกับพระกรุวัดพลับทุกอย่าง เรียกว่า "พระฝากกรุ"
สันนิษฐานกันว่าน่าจะนำพระมาจากวัดพลับขึ้นไปบรรจุไว้ในเจดีย์วัดโค่ง จังหวัดอุทัยธานี การนำพระมาจากวัดพลับขึ้นไปยัง
วัดโค่งสมัยนั้นยากลำบาก การเดินทางด้วยเท้าทางบกจะไม่ทำ นอกจากเดินธุดงค์ คงจะเดินทางด้วยเรือแจวไปตามแม่น้ำ
มากกว่า และผู้ที่จะนำไปหรือสั่งให้คนอื่นนำไปคงจะต้องเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ ถ้าเป็นพระลูกวัดธรรมดาๆอย่างที่ร่ำลือกันว่า
"ขรัวตาจัน" เป็นผู้นำพระไปบรรจุไว้มีหนทางที่จะเป็นไปได้ยากมาก หรือเกือบจะไม่มีทางเอาเลย

ประการที่สอง สันนิษฐานกันว่า "ขรัวตาจัน" พระภิกษุชาวเขมรผู้เรืองวิชาทางคาถาอาคมจำพรรษาอยู่ที่วัดพลับ เป็นผู้สร้างพระวัดพลับ แล้วนำพระส่วนหนึ่งขึ้นไปบรรจุไว้ที่วัดโค่ง จังหวัดอุทัยธานี

ถ้าเราจะวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้กันแล้ว พบทางที่จะเป็นไปได้อย่างมากๆ ก็คือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) เมื่อครั้งอยู่
ที่วัดราชสิทธาราม หรือวัดพลับ คงจะไม่ได้ลงมือพิมพ์พระสร้างพระเองหรอก จะต้องมีคนอื่นขออนุญาตสร้างแล้วขอเมตตา
จากท่านให้ช่วยปลุกเสกให้ คนที่เป็นแม่งานควบคุมดูแลการสร้างพระตั้งแต่ผสมเนื้อพระ คนช่วยกดพิมพ์พระแล้วรวบรวมมาให้
สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) ปลุกเสก อาจจะเป็นขรัวตาจันที่ว่าก็ได้

ถ้าหากเรื่องราวเป็นอย่างที่ว่านั้นจริง สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) หรือสมเด็จพระสังฆราชไก่เถื่อนเมื่อครั้งดำรง
สมณศักดิ์เป็นพระญาณสังวร อดีตเจ้าอาวาสวัดราชสิทธาราม หรือวัดพลับ เป็นผู้ปลุกเสกพระวัดพลับอย่างแน่นอน ที่ว่ามานี้คือ
การสันนิษฐานนะขอรับ เพราะผู้เขียนก็เกิดไม่ทัน

สมเด็จ (โต) เป็นศิษย์ในสมเด็จพระสังฆราช (สุก) จริงหรือ?

ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนเองก็มีความสงสัยมาช้านานแล้ว สอบถามนักสะสมพระเครื่องรุ่นพี่ๆ ก็ยังไม่กระจ่างเป็นที่พอใจ
ค้นหาหลักฐานก็ไม่พบชนิดที่จะแจ้งแดงแจ๋ มีแต่โน่นนิดนี่หน่อย ต้องเก็บเอามารวมกันแล้วตีความ บางตอนต้องแปลไทยเป็นไทย
ด้วยซ้ำ และบางตอนก็ต้องใช้คำว่าสันนิษฐานตามแบบฉบับของนักโบราณคดี เพราะไม่มีหลักฐานนั่นเอง

จากประวัติของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียง
ประวัติของท่านไว้เป็นความย่อๆ เรียกว่า "เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์" โดยที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวง
ชินวรศิริวัฒน์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิธ โปรดให้จัดพิมพ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2466 กล่าวไว้ว่า…

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงโปรดประทานและเมตตาสามเณรโตเป็นอันมาก
เมื่ออายุครบอุปสมบท ปี พ.ศ.2350 โปรดเกล้าฯ ให้เป็นนาคหลวง บวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราช (สุก)
เป็นพระอุปัชฌาย์ และในรัชกาลที่ 2 ก็ทรงโปรดปรานรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 จะทรงสถาปนาสมณศักดิ์
ให้ท่าน แต่ท่านทูลขอตัวเสียไม่ยอมรับ ครั้นถึงรัชกาลที่ 4 ท่านไม่ขัดพระราชอัธยาศัย จึงทรงพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์
ครั้งแรกเป็นพระธรรมกิตติ พ.ศ. 2395 เวลานั้นท่านอายุ 65 ปีแล้ว ต่อมาอิก 2 ปี คือ พ.ศ. 2397 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี
และใน พ.ศ. 2407 สถาปนาสมณศักดิ์เป็น "สมเด็จพระพุฒาจารย์" สถิต ณ วัดระฆัง

ตามหลักฐานประวัติข้างต้น สามเณรโตอายุครบบวชเมื่อปีพ.ศ. 2350 (ตามประเพณีต้องอายุครบ 20 ปี จึงบวชเป็นพระได้)
สมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) องค์นี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 2 แห่ง
กรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุ ระหว่างปี พ.ศ. 2337-2359 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อรัชกาลที่ 2 ปีพ.ศ. 2350 ที่สามเณร
(โต) บวชจึงจะเข้ากันได้ กับปี พ.ศ. ที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นอุปัชฌาย์ แต่ถ้าสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) เป็นพระ
อุปัชฌาย์แล้ว ปี พ.ศ. จะเข้ากันไม่ได้เลย เพราะสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) เป็นพระสังฆราชองค์ที่ 4 เมื่อปี พ.ศ. 2363
ไม่ตรงกับปี พ.ศ. ที่สามเณร (โต) บวชคือ พ.ศ. 2350 เพราะฉะนั้น สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร หรือ ไก่เถื่อน)
ไม่ได้เป็นพระอุปัชฌาย์ของสามเณร (โต) อย่างแน่นอน (ว่ากันตามหลักฐานนะครับ)

อย่าลืมนะครับ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) เมื่อครั้งยังไม่ได้สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 แห่งกรุง
รัตนโกสินทร์ ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องวิปัสสนาธุระ พระภิกษุ (โต) ต้องได้ยินกิตติศัพท์แน่ และคงจะต้องมาขอฝากตัว
เป็นศิษย์เรียนวิชา (ตามความเข้าใจของผู้เขียนในเชิงสันนิษฐาน) เพราะวัดระฆังกับวัดราชสิทธาราม หรือวัดพลับไม่ห่างไกล
กันเท่าไหร่ มีหนทางที่จะเป็นไปได้มากที่สุดที่สมเด็จ (โต) เมื่อครั้งยังเป็นพระธรรมดาๆเป็นศิษย์ในสำนัก สมเด็จพระญาณสังวร
(สุก ไก่เถื่อน) และคงจะได้วิชาสูตรการทำผงวิเศษสำหรับสร้างพระเนื้อผงนำมาสร้างพระของท่านเองที่วัดระฆังด้วยก็ได้

ปัญหาที่ว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆัง เคยเป็นศิษย์ในสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) วัดพลับจริงไหม?
ก็พอจะทราบแล้วนะครับว่าอะไรเป็นอะไร?

พระวัดพลับ กรุกระรอกเผือก

เป็นเรื่องที่เล่าขานสืบทอดต่อกันมาว่า มีชาวอิสลามบ้านอยู่แถวเจริญพาสน์ ไปไล่จับกระรอกเผือกภายในวัดพลับกับ
พรรคพวก เจ้ากระรอกเผือกมันกระโดดหายเข้าไปในโพรงพระเจดีย์เก่าองค์หนึ่ง ชาวอิสลามกับพวกไม่ฟังเสียงใช้ไม้กระทุ้ง
และทะลวงโยกคลอนเขย่าเข้าไปในรูโพรงพระเจดีย์ เพื่อต้องการให้กระรอกเผือกหนีออกมา แต่เจ้ากระรอกเผือกตัวนั้น
มันหายไปรวดเร็วจัง

จากผลที่เอาไม่กระทุ้งทะลวงในโพรงพระเจดีย์ครั้งนั้น เกิดแรงสั่นสะเทือนทำให้มีพระเครื่ององค์เล็กๆสีขาว เท่าเบี้ยจั่น
ร่วงหล่นตามไม้ที่แยงขึ้นไปกระทุ้งผสมลงมากับเศษอิฐกากปูนเก่าๆ จำนวนหนึ่งชาวอิสลามไม่นับถือพระอยู่แล้ว จึงไม่สนใจ
ที่จะเก็บพระเอาเข้าบ้าน จึงปล่อยให้พระตกเรี่ยราดอยู่แถวบริเวณโพรงพระเจดีย์นั้น

ในระหว่างเดินทางกลับบ้านพบปะเพื่อนฝูงก็เล่าเรื่องนี้ให้ฟัง ข่าวนี้ได้ไปกระทบหูชาวพุทธเข้าคนหนึ่งที่สนใจเรื่องพระ
เขาจึงรีบตรงไปที่วัดพลับทันที ค้นหาพระเจดีย์องค์ที่มีพระร่วงหล่นออกมาจนพบ ชายผู้นั้น (ไม่ทราบชื่อ) ได้ขนย้ายพระ
จำนวนหนึ่งมาเก็บไว้ที่บ้านของตน ต่อมาทางวัดรู้ข่าวจึงได้เปิดกรุเป็นทางการขึ้น นำเอาพระวัดพลับมาเก็บไว้ในที่ปลอดภัย
ชาวบ้านเรียกขานพระวัดพลับกรุนี้ว่า" พระวัดพลับ กรุกระรอกเผือก" เพราะเจ้ากระรอกเผือกเป็นตัวการทำให้คนไปพบพระ
เข้าโดยบังเอิญ ไม่ได้ตั้งใจ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าต่อกันไปอีกว่า เมื่อเด็กๆมาเล่นแถวพระเจดีย์ที่มีพระวัดพลับร่วงหล่นออกมา ก่อนที่ทางวัดจะเปิดกรุ
เป็นทางการ ความประสี-ประสาของเด็ก นำพระมาเล่นหยอดหลุมทอยกองกันเล่นสนุกมือ จนกระทั่งพระเณรมาพบเห็นเข้า
เรื่องจึงแดงโร่ขึ้น แล้วทางวัดจึงได้เปิดกรุเป็นทางการขึ้น จะเห็นได้ว่าพระกรุวัดพลับนั้นมีจำนวนมากมาย นับเป็นจำนวนหมื่นองค์
ทีเดียว เรื่องที่เล่ามาให้ฟัง ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรไม่ทราบ ได้ยินได้ฟังเขาเล่าก็เลยนำมาถ่ายทอดอีกชั้นหนึ่ง

พระวัดพลับ กรุวัดโค่ง อุทัยธานี

เมื่อประมาณหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่วัดโค่ง จังหวัดอุทัยธานี กรุพระแตกเรียกกันว่า "พระกรุวัดโค่ง" เป็นพระเนื้อผงสีขาวองค์
เล็กๆขนาดเท่าเบี้ยจั่น ชนิดเนื้อชินและเนื้อตะกั่วสนิมแดงก็มี เป็นที่สงสัยและฮือฮาแก่บรรดานักนิยมพระสะสมพระทางกรุงเทพฯ
มาก เหตุที่สงสัยกันมากก็คือ ทำไมพระกรุนี้จึงมีแบบพิมพ์รูปร่างตลอดจนเนื้อพระเหมือนกับพระกรุวัดพลับ ที่จังหวัดธนบุรี ซึ่ง
ปัจจุบันเป็นกรุงเทพฯ ครั้นสืบสาวราวเรื่องที่มากันอยู่พักหนึ่ง จึงรู้ว่าที่แท้ก็คือพระวัดพลับนำขึ้นไปบรรจุไว้ที่วัดโค่ง อุทัยธานีนั่นเอง
เมื่อวงการรับรองและอ้าแขนรับพระกรุวัดโค่ง ว่าเป็นของแท้เป็นพระประเภทฝากกรุเล่นได้ เท่านั้นแหละครับ ราคาพระกรุวัดโค่ง
พุ่งปรู๊ดยังกะพลุแตก เพราะเป็นพระที่ออกมาจากกรุใหม่ สภาพผิวพระดีมาก ย่อมสวยกว่าพระกรุกระรอกเผือกที่เปิดกรุมา 60
กว่าปีแล้ว คนนำมาใช้กันผิวปอกผิวเสีย เมื่อมันเสื่อมแล้ว เพราะฉะนั้นพระวัดพลับองค์ที่สวยๆผิวพระดีๆ สภาพเดิมๆ ตามความ
เข้าใจของข้าพเจ้า เชื่อมั่นว่าเป็นพระกรุวัดโค่งทั้งสิ้น แต่ก็ไม่เห็นจะแปลกอะไรที่ตรงไหนในเมื่อพระวัดพลับ กรุกระรอกเผือก
กับพระวัดพลับกรุวัดโค่ง สร้างพร้อมกัน คนปลุกเสกคนเดียวกัน และเชื่อกันว่าสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) เป็นผู้ปลุกเสก
เสร็จแล้วนำพระขึ้นไปบรรจุฝากกรุไว้ที่วัดโค่ง ริมแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี พระทั้ง 2 กรุนี้ บรรจุไว้บนคอระฆังพระเจดีย์
ที่สูงที่แห้ง ไม่ได้ฝังดินอยู่ที่ต่ำชื้น มีคราบกรุบางๆไม่หนามาก สีสันเหมือนกันแยกไม่ออก แต่ถ้าเป็นพระที่ผ่านการใช้มาแล้ว
มากๆผิวเสียผิวสึกมากส่วนใหญ่จะเป็นพระกรุกระรอกเผือก วัดพลับ ธนบุรี

สาเหตุที่พระวัดพลับ กรุวัดโค่ง อุทัยธานี ที่แตกกรุออกมา คนอุทัยธานี บ้านอยู่ใกล้วัดโค่งเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า…
มีคนร้ายกลุ่มหนึ่งขุดค้นหาสมบัติของมีค่าตามพระเจดีย์ บังเอิญไปพบเข้าโดยไม่ได้ตั้งใจเจตนา แต่ก็ไม่สนใจเรื่องพระ สนใจแต่
ของมีค่าอย่างอื่นๆ ต่อมาทางวัดรู้เรื่องเข้าจึงได้เปิดกรุเป็นทางการขึ้น ช่วยกันขนย้ายพระจากพระเจดีย์องค์เก่าที่อยู่ริมแม่น้ำ
มากองไว้โคนต้นโพธิ์ ชาวบ้านที่สนใจเรื่องพระทราบเรื่อง ก็มาหยิบฉวยกันเอาไปไม่มีใครหวงห้าม แต่ประการใด

"พี่แอ๊ด" คนอุทัยธานี บ้านอยู่ในตลาด ห่างจากวัดโค่งไม่เท่าไหร่ ได้กรุณาพาตัวข้าพเจ้า ไปดูพระเจดีย์องค์ที่บรรจุพระ
และต้นโพธิ์ที่นำพระมากองไว้ที่ต้นพร้อมกับเล่าให้ฟังว่า… จำนวนพระที่ขนย้ายออกมาจากพระเจดีย์มากองไว้โคนต้นโพธิ์
สุมไว้เป็นกองๆ เข้าใจว่าจำนวนพระนับหมื่นองค์ ต่อมาทางวัดได้เปิดให้ประชาชนเช่าบูชาเพื่อหารายได้นำมาบูรณวัด เปิดให้เช่า
บูชาระยะหนึ่ง จนกระทั่งไม่มีคนสนใจแล้ว ท่านเจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้นำพระที่เหลือบรรจุไว้ที่ฐานชุกชี องค์พระประธาน
ในโบสถ์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งบรรจุไว้ในพระเจดีย์

ภายหลังต่อมาได้มีคนร้ายรู้ลายแทงหวนกลับมาขโมยขุดเจาะพระวัดพลับ ที่บรรจุไว้ที่ฐานชุกชีพระประธานในโบสถ์ และ
ที่พระเจดีย์ที่บรรจุพระซ่อนเอาไว้ไปได้ เรียกว่าขนเอาไปจนเกลี้ยงไม่เหลือเอาไว้เลย และทางวัดก็ไม่สามารถที่จะจับมือใครดม
ได้ด้วย แล้วเรื่องก็เงียบจางหายแบบคลื่นกระทบฝั่งมาตราบเท่าทุกวันนี้

พระวัดพลับ เนื้อชินตะกั่ว

พระกรุวัดพลับมีทั้งเนื้อผงสีขาว และเนื้อชินตะกั่ว เนื้อผงสีขาวมีจำนวนมาก พบเห็นบ่อย ส่วนเนื้อชินตะกั่วมีจำนวนน้อย
พบเห็นยาก คนส่วนใหญ่จึงนิยมเนื้อผงราคาดี ส่วนเนื้อชินตะกั่วราคาถูกแต่หายาก

ท่านก็ทราบกันอยู่แล้วว่า พระกรุวัดพลับมีอายุมากกว่าพระสมเด็จวัดระฆัง และพระสมเด็จบางขุนพรหม คือ มีอายุ 100ปีเศษ
เพราะฉะนั้นพระที่มีอายุขนาดนี้ จะต้องแลดูมีความเก่าสมกับอายุของพระ เช่น

1. ผิวของชินต้องมีความแห้งผาก ผิวมีมันแห้งๆ มีเนื้อพุงอกมีสนิมไขขาว ผิวมันแบบไขวัวจับ และอาจมีรอยผุกร่อนบางที่
บางตอนด้วย

2. ถ้าเป็นพระเนื้อตะกั่ว ต้องมีสนิมแดง สนิมแดงของเก่าผิวต้องแห้งมีรอยลั่นร้าวแบบใยแมงมุมใต้ผิว คือรอยร้าว
เกิดพุจากข้างในออกมาข้างนอก ไม่ใช่จากข้างนอกเข้าไปข้างในแบบของปลอม

ลักษณะของสนิมแดงของแท้ต้องแห้งแลดูใสคล้ายวุ้น ไม่ใช่เปียกแฉะแลดูทึบแบบสีโป๊ว หรือสีผสมซีเมนต์นำมาปะทา
ไว้เลอะเทอะน่าเกลียด

พระวัดพลับเนื้อชินตะกั่ว เป็นของหายากมาก ข้าพเจ้าเคยพบเห็นผ่านสายตามาไม่เกิน 6 องค์ ที่เป็นของแท้ ส่วนของเก๊
นั้นมีมากเหลือเกิน ใครที่สนใจเล่นหาต้องระวังกันหน่อย ถ้าจะให้ปลอดภัยควรให้ผู้สันทัดกรณีตรวจเช็คเสียก่อนเป็นการดีนะครับ

พระวัดพลับ เนื้อผงสีขาว

พระกรุวัดพลับ จะเป็นกรุกระรอกเผือกที่วัดพลับ ธนบุรี หรือกรุวัดโค่ง อุทัยธานี เนื้อเหมือนกันทุกอย่าง แต่ขึ้นจากกรุไม่
พร้อมกัน พระกรุกระรอกเผือกเปิดกรุก่อน ปี พ.ศ. 2470 ส่วนกรุวัดโค่ง อุทัยธานี เปิดกรุก่อนปี พ.ศ. 2500 และภายหลัง พ.ศ.
2500 บรรจุอยู่ในเจดีย์ที่สูงที่แห้งทั้ง 2 กรุ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีดินขี้กรุสีดำ หรือสีเทาแก่มาจับผิวแบบพระสมเด็จบางขุนพรหม
(กรุใหม่) จะมีขี้กรุจับไม่หนาสีขาวบ้างสีขาวอมเหลืองหรือน้ำตาลอ่อนบ้าง

พูดถึงเรื่องเนื้อพระกันแล้ว มีทั้งแบบละเอียด และกึ่งหยาบ และเนื้อหยาบ ที่เรียกกันว่า "เนื้อก้นครก" เนื้อหยาบพบมาก
ในพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ และพิมพ์ยืนหรือนอน ส่วนมากพระพิมพ์ขนาดเล็ก จะเป็นชนิดเนื้อละเอียด แกร่ง-แข็ง-ขาว และมีจุดจ้ำเหลือง
แบบพระสมเด็จบางขุนพรหมกรุเก่า

เรื่องการแตกลายงาและลายสังคโลกบนพื้นผิวพระวัดพลับ เนื้อผงส่วนมากจะมีและชนิดที่ไม่แตกลายงาก็มี ไม่ว่าจะเป็น
ขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก การแตกลายงาจะมีทั้งด้านหน้า-ด้านข้างและด้านหลังองค์พระด้วย สันนิษฐานว่าการแตกลายงาเกิด
จาก การอบความร้อนของพระที่อยู่ในกรุเป็นเวลายาวนานภายในเจดีย์ ไม่มีรูระบายอากาศ หรือมีแต่ไม่เพียงพอ ประกอบกับ
องค์พระมีขนาดเล็กด้วย ลำดับต่อไปจะพูดถึงเรื่องแบบพิมพ์

การแยกพิมพ์

เป็นความจริงที่ทราบกันแล้ว พระกรุโบราณตอนสร้างพระ ผู้สร้างมิได้ตั้งชื่อแบบพิมพ์เอาไว้เลย คนรุ่นหลังต่อมาที่พบพระ
เป็นผู้จัดการตั้งชื่อให้ท่านทั้งสิ้น เพื่อสะดวกต่อการเรียกขานชื่อให้เข้าใจความหมายซึ่งกันและกันเพราะถ้าไม่มีชื่อเรียกต้องยุ่ง
สับสนแน่ๆ การตั้งชื่อแบบพิมพ์พระนั้น บางครั้งก็ดูตามพุทธลักษณะลีลาจุดที่หมายเด่นเห็นจำง่ายในแบบพิมพ์ก่อน และบางครั้ง
ก็ดูตามรูปพรรณสัณฐานว่าเหมือนหรือใกล้เคียงกับสิ่งใด หรือดูขนาด ฯลฯ เป็นต้น

พระสมเด็จวัดพลับก็เช่นเดียวกัน มีกี่แบบพิมพ์ไม่ทราบได้ ไม่มีการจดบันทึกหลักฐานกันเอาไว้เลย เพราะเป็นของเก่า
โบร่ำโบราณเกิน 100 ปี ที่พบเห็นกันอยู่ทั่วๆไป ในเวลานี้มีอยู่ 12 พิมพ์ มีรายชื่อว่าอะไรบ้าง ประเดี๋ยวรู้ นอกเหนือจากนี้อาจ
จะมีอีก แต่ยังไม่มีใครพบเห็น ที่พบๆ แต่ของปลอม รายชื่อที่เรียกเป็นสากล มีดังนี้

1. พิมพ์ยืนถือดอกบัว หรือนอน
2. พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่
3. พิมพ์พุงป่องใหญ่
4. พิมพ์พุงป่องเล็ก
5. พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก
6. พิมพ์สมาธิ-ใหญ่
7. พิมพ์สมาธิ-เล็ก
8. พิมพ์สมาธิ-เข่ากว้าง-ใหญ่
9. พิมพ์สมาธิ-เข่ากว้าง-เล็ก
10. พิมพ์ปิดตา-ขนาดใหญ่
11. พิมพ์ปิดตา-ขนาดเล็ก
12. พิมพ์ 2 หน้า

รายละเอียด ขอจบเพียงเท่านี้
ติดตามอ่านต่อได้ที่ http://www.soonphra.com/topic/plub/

ที่มา : ศูนย์พระดอทคอม

 
     
โดย : พระช้างเผือก   [Feedback +37 -0] [+0 -0]   Mon 18, Jan 2010 10:41:39
 
 
 
โดย : พระช้างเผือก    [Feedback +37 -0] [+0 -0]   [ 1 ] Mon 18, Jan 2010 10:42:51

 

พิมพ์ยืนถือดอกบัวหรือนอน

พระวัดพลับ พิมพ์ถือดอกบัว หรือ นอน

พระพิมพ์นี้ดูภาพแล้วแปลกตาดีแท้ๆ จะดูเป็นพิมพ์ยืนถือดอกบัวก็ได้ หรือจะดูเป็นพิมพ์นอนถือดอกบัวก็ยังไหว สอบถาม
มาหลายคนแล้ว เขย่าไม่ลงตัวสักที คือ มองได้ 2 แง่ 2 นัย

มีผู้กล่าวว่า พระวัดพลับพิมพ์ยืนถือดอกบัวนี้ เป็นรูปพระมหากัสสัปเถระ ตั้งสัตยาธิษฐานรำพิงถึงความกตัญญูกตเวที
และความจงรักภักดีต่อพระพุทธเจ้า หน้าหีบพระศพพระพุทธเจ้า ณ มกุฎพันธเจดีย์

แต่บางท่านบอกว่า พิมพ์นี้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์ถึงพระราชอิริยาบถของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2
ที่ทรงพระมาลาถือดอกบัว ทรงวันทาสีมาก่อนเสด็จเข้าสู่พระอุโบสถ

และก็มีบางท่านบอกว่า น่าจะเป็นรูปพระนอน เพราะสังเกตที่พระเศียรคล้ายมีหมอนรองรับคือ มีหมอนหนุนศีรษะ สิ่งที่
สะดุดตามากที่สุด ทำไมต้องถือดอกบัวด้วย? เพราะถ้าเป็นรูปพระพุทธเจ้าแล้วไม่ต้องไหว้คารวะใคร และก่อนจะเสด็จเข้าสู่
ปรินิพพานก็คงไม่มีใครเอาดอกบัวหรือดอกไม้ไปใส่มือท่านให้ใจรำลึกถึงพระพุทธเจ้าอีก เนื่องจากตัวท่านเป็นพระพุทธเจ้า
อยู่แล้ว แง่นี้น่าคิด…

สรุปแล้วภาพพระพิมพ์นี้เป็นปริศนามองกันไปได้หลายแง่มุม แล้วแต่จะเห็นจะคิดเอา… แต่ถ้าบอกว่าไม่รู้จะง่ายกว่าใช่ไหม?

แล้วทำไมพระพิมพ์นี้จึงเป็นที่นิยมชื่นชอบกันจัง? ราคาก็แพงกว่าพิมพ์อื่นๆในกรุเดียวกัน ถ้าจะให้ตอบก็พวกเรานี่แหละตัวดี
ไปแยกแยะและยกย่องกำหนดราคา ให้ท่านบอกว่าพระพิมพ์นี้เขาสร้างไว้จำนวนน้อยนะควรจะมีราคาแพงกว่าแบบธรรมดาทั่วไป
ที่เขาสร้างไว้แยะ เรื่องคงจะมีเท่านี้ ส่วนเรื่องพุทธคุณนั้นมีเท่ากันทุกอย่าง เพราะเป็นเนื้อผงสูตรเดียวกัน หรืออาจจะเป็น
ครกเดียวกันก็ได้ ปลุกเสกในพิธีเดียวกัน นอนอยู่ในกรุด้วยกัน เปิดกรุพร้อมกัน แต่ราคาไม่เท่ากันซะแล้ว เพราะมนุษย์เป็น
ผู้กำหนดขึ้น

ขนาดองค์พระ ส่วนกว้างประมาณ 1.8 ซม. ส่วนสูงประมาณ 3.5 ซม. หลังนูนเล็กน้อย หลังแบนก็มี

จุดสังเกตและตำหนีในการดู พระวัดพลับ พิมพ์ยืนถือดอกบัว หรือพิมพ์นอน ขอให้ดูภาพชี้ตำหนีที่ได้แสดงไว้

พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่

พระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่

ทำไมจึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่า "พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่" ถ้าได้ดูภาพแล้วคงจะเห็นด้วยกับคนตั้งชื่อพระ เพราะว่าพุทธลักษณะองค์พระ
คล้ายๆกับตุ๊กตาเด็กเล่น การนั่งขององค์พระแลดูเข้มแข็ง มีสง่าอยู่ในที การวางแขนหักศอกและประสานมือดูแข็งกร้าว องค์พระ
อ้วนใหญ่ บึกบักดีแท้ ปราศจากลวดลายประกอบ โชว์พุทธลักษณะองค์พระอย่างเดียว

เป็นพระนั่งปางสมาธิ ขัดราบ ด้านหลังนูนแบบหลังเบี้ย หรือหลังเต่า นูนมากนูนน้อยไม่แน่นอน

ขนาดองค์พระกว้างประมาณ 1.7-2 ซม. ส่วนสูงประมาณ 2.5-3 ซม. แล้วแต่ปีกกว้างปีกแคบ

จุดสังเกตและตำหนิในการดู พระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ ขอให้ดูจากภาพชี้ตำหนิที่ได้แสดงไว้แล้ว

อนึ่ง พระวัดพลับพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่นี้ ข้าพเจ้าเห็นแล้ว 2 บล็อก ขอแยกพิมพ์เป็นแบบที่ 1 คือ พิมพ์ต้อ และแบบที่ 2
พิมพ์ชะลูด โปรดศึกษาดูจากภาพ เล่นไม่ยากหรอก ดูเป็นเดี๋ยวก็รู้แล้ว พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ สนนราคาเบากว่าพิมพ์ยืนถือดอกบัว-
วันทาสีมา แต่ก็หายากไม่ใช่เล่น

พิมพ์พุงป่องใหญ่

พระวัดพลับ พิมพ์พุงป่องใหญ่

สาเหตุที่ตั้งชื่อเรียกว่า"พุงป่อง" พระพิมพ์นี้ต้องมีที่หมายเด่นเห็นจำง่ายคืออกใหญ่-พุงโตแน่นอน ดูภาพแล้วคล้ายกับ
ประคองอุ้มไว้ พบเห็นกันแล้ว 2 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ตั้งชื่อว่า "พิมพ์พุงป่องใหญ่" ขนาดเล็กตั้งชื่อว่า "พิมพ์พุงป่องเล็ก"

ลักษณะองค์พระ เป็นพระนั่งปางสมาธิ-ขัดราบ ด้านหลังนูนแบบหลังเต่านูนมากนูนน้อยไม่แน่นอน ถ้าดูลีลาเชิงศิลป์กันแล้ว
จะเห็นว่า องค์พระเด่นไปอีกแบบหนึ่ง เค้าหน้าใหญ่ คางสอบแหลม อกและท้องนูนสูงมาก การวางแขนหักเป็น 3 ท่อน และเห็น
ได้ชัด การประสานมืออยู่ในแนวราบดูคล้ายๆกับอุ้มท้องไว้ ข้อมือคอดเล็ก

ขนาดองค์พระ กว้างประมาณ 1.5 ซม. ส่วนสูงประมาณ 2-2.2 ซม. มีปีกกว้างปีกแคบ

จุดสังเกตและตำหนิในการดู พระวัดพลับ พิมพ์พุงป่องใหญ่ ขอให้ดูภาพชี้ตำหนิที่ได้แสดงไว้แล้ว

พระวัดพลับพิมพ์พุงป่องใหญ่ เคยเห็นบล็อกเดียว ราคาเบากว่าพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ ความหายากพอกัน เพราะสร้างไว้จำนวน
น้อยกว่าพิมพ์อื่นๆนั่นเอง

พิมพ์พุงป่องเล็ก

พระวัดพลับ พิมพ์พุงป่องเล็ก

สาเหตุที่ตั้งชื่อเรียกพิมพ์ "พุงป่อง" คงรู้กันแล้วนะครับ ลักษณะโดยทั่วไปของพระพิมพ์นี้มีลีลาของเส้นสายต่างๆ คล้ายพิมพ์
พุงป่องใหญ่ ที่ได้กล่าวมาแล้ว ผิดแผกแตกต่างกันออกไปบ้างเล็กๆน้อยๆ ประเดี๋ยวจะชี้จุดให้ดู

ลักษณะขององค์พระ เป็นพระนั่งปางสมาธิ-ขัดราบ ขาขวาทับขาซ้าย เค้าหน้าแบบผลมะตูมยาน คางไม่แหลม มีเส้นลำคอ
ยาว อกและท้องนูนสูง ต้นแขนเล็กลีบ การวางแขนหักเป็น 3 ท่อน การประสานมืออยู่ในแนวราบแบบเดียวกับพิมพ์พุงป่องใหญ่
แต่ข้อมือไม่คอด ด้านหลังนูนแบบหลังเต่า

ขนาดองค์พระ กว้างประมาณ 1 ซม. ส่วนสูงประมาณ 1.7-2.0 ซม. บางองค์ปีกกว้าง บางองค์ปีกแคบ

จุดสังเกตและตำหนิในการดูพระวัดพลับ พิมพ์พุงป่องเล็ก ขอให้ดูจากภาพชี้ตำหนิที่ได้แสดงไว้

พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก

พระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก

สาเหตุที่ตั้งชื่อเรียกว่า "พิมพ์ตุ๊กตา" บอกไปแล้วในพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ แต่ทว่าพิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ แลดูลีลาเส้นลายมีลักษณะ
แข็งกร้าวกว่าพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก ลองนำภาพมาเปรียบเทียบกันดูก็ได้ คือลักษณะกอดรัดตัวยืดอกขึงขังกว่า

ลักษณะขององค์พระ เป็นพระนั่งปางสมาธิ-ขัดราบ ขาขวาทับขาซ้าย เค้าหน้าใหญ่ คางสอบแหลม การทิ้งแขนแลดูหัก
เป็น 2 ท่อน ลักษณะกอดรัดตัว ต้นแขนใหญ่ แขนท่อนบน-ท่อนล่าง และการประสานมือเป็นเส้นใหญ่เท่ากันไปหมด การวาง
ขาขวาปลายพระบาทเฉียงทแยงขึ้นมา

ขนาดองค์พระ กว้างประมาณ 1 ซม. ส่วนสูงประมาณ 1.5-2.0 ซม. บางองค์ปีกกว้าง บางองค์ปีกแคบ โดยเฉพาะองค์ที่
ปีกแคบมากจะแลดูองค์พระเล็ก บางคนเรียกว่า "พิมพ์ไข่จิ้งจก" คือ มีลักษณะเล็ก-และหลังนูนรูปร่างคล้ายไข่จิ้งจกนั่นเอง
และพุทธลักษณะองค์พระเป็นพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก

จุดสังเกตและตำหนิในการดู พระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก ขอให้ดูจากภาพชี้ตำหนิที่ได้แสดงไว้

โปรดอย่าถามนะครับว่า "พิมพ์ตุ๊กตาเล็ก" แยกออกได้อีกกี่บล็อกกี่แบบ? เท่าที่เคยพบเห็นมาบ่อยๆก็บล็อคนี้แหละ
แต่ชนิดที่แลดูองค์พระมีขนาดเล็กกว่าทั่วๆไปเล็กน้อยก็เคยเจอ เสียดายที่ปล่อยให้ผ่านไปไม่ได้ศึกษาเปรียบเทียบเอาไว้
เลขไม่รู้พูดไม่ได้ จึงต้องขอสันนิษฐานว่ามีเกินกว่า 1 แบบ ก็แล้วกัน ลำดับต่อไปจะขอกล่าวถึงพระสมเด็จวัดพลับอีกพิมพ์หนึ่ง
คือพิมพ์สมาธิใหญ่

พิมพ์สมาธิใหญ่

พระวัดพลับ พิมพ์สมาธิใหญ่

คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับที่พระพิมพ์นี้เรียกกันว่า "พิมพ์สมาธิใหญ่" เพราะพระวัดพลับ นอกจากพิมพ์ยืนถือดอกบัว
หรือนอน และพิมพ์ปิดตา แล้วพิมพ์นั่งแบบธรรมดาทั่วไป ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ล้วนแต่เป็นพระปางสมาธิทั้งสิ้น
ไม่มีพิมพ์ปางมารวิชัยเลย การที่ตั้งชื่อเรียกพิมพ์สมาธิใหญ่ เพราะพิมพ์อื่นๆ ตั้งชื่อกันไปหมดแล้ว เหลือแบบนี้อยู่ 2 พิมพ์
เลยตั้งชื่อเป็นพิมพ์สมาธิใหญ่ และพิมพ์สมาธิเล็ก

พระพิมพ์นี้ดูจากภาพแล้วจะเห็นว่าลักษณะการนั่งขององค์พระอยู่ในท่าสบาย ไม่กอดรัดตัวให้อึดอัดเหมือนพิมพ์อื่น
ที่ผ่านมาแล้ว มีความสง่าอยู่ในตัว พระพักตร์ พระเกศ และพระกรรณ แลดูสมส่วนกับองค์พระ ไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป

ขนาดขององค์พระ ความกว้างประมาณ 1.5 ซม.ส่วนสูงประมาณ 2.5 ซม.พระบางองค์คนกดพิมพ์พระใส่เนื้อลงไปในพิมพ์น้อย ปีกจะเล็กแคบแลดูสั้น บางองค์พระเพลาขาดหายไปก็มี

จุดสังเกตและตำหนิในการดู พระวัดพลับ พิมพ์สมาธิใหญ่ ขอให้ดูจากภาพชี้ตำหนิที่ได้แสดงไว้

เมื่อมีพิมพ์สมาธิใหญ่แล้วก็มีพิมพ์สมาธิเล็ก ลักษณะการนั่งของพระพิมพ์นี้เหมือนพิมพ์สมาธิใหญ่ เพียงแต่ว่าขนาด
ต่างกันเป็นพระนั่งปางสมาธิ-ขัดราบ เค้าพระพักตร์รูปร่างคล้ายผลมะตูมเส้นใบหูยาว แนบชิดติดพักตร์ลงมาทั้ง 2 ข้าง พระเพลา
(ขาและเข่า) วางแบนราบแลดูกว้าง การวางแขนและประสานมือเป็นวงโค้ง เส้นแขนและเส้นมือมีขนาดไล่เลี่ยกัน

พระวัดพลับ พิมพ์สมาธิเล็ก

ขนาดขององค์พระ ความกว้างประมาณ 1.5 ซม. ส่วนสูงประมาณ 2.3 ซม. แต่ถ้าบางองค์ปีกแคบจะแลดูมีขนาดเล็กกว่านี้ บางองค์ใส่เนื้อลงไปในพิมพ์น้อยองค์พระเหลือนิดเดียวก็มีไม่แน่นอน แต่ขนาดภายในขององค์พระตายตัวเท่าแม่พิมพ์

จุดสังเกตและตำหนิในการดูพระวัดพลับ พิมพ์สมาธิเล็ก ขอให้ดูจากภาพตำหนิที่ได้แสดงไว้แล้ว

พิมพ์สมาธิ-เข่ากว้างใหญ่

พระวัดพลับ พิมพ์สมาธิเข่ากว้าง

พระพิมพ์นี้ดูภาพแล้วจะเห็นว่าตรงตามชื่อที่เขาตั้งไว้ตรงเป๋ง คือองค์พระเข่ากว้างมาก พระพิมพ์นี้มีศิลปะไปอีกแบบหนึ่ง
ไม่เหมือนใคร คือองค์พระมีขนาดเล็กแลดูตื้นกว่าพิมพ์สมาธิเล็ก แขนท่อนบนเล็ก แขนท่อนล่างใหญ่ วางแขนหักเป็น 3 ท่อน
เค้าหน้าแตกต่างกัน พิมพ์สมาธิเล็ก-สมาธิใหญ่ โปรดพิจารณาดูภาพประกอบเปรียบเทียบไปด้วย จะเห็นข้อแตกต่าง นอกจากนี้
การวางขาและเข่าแลดูแบนราบขายาว จึงได้รับขนานนามว่า"เข่ากว้าง"

ขนาดองค์พระ ความกว้างประมาณ 1.5 ซม. ส่วนสูงประมาณ 2.3 ซม. พระพิมพ์นี้เท่าที่พบส่วนมากปีกจะกว้าง แต่ชนิด
ปีกเล็กแคบต้องมีแน่

จุดสังเกตและตำหนิในการดูพระวัดพลับ พิมพ์สมาธิ-เข่ากว้างใหญ่ ขอให้ดูจากภาพ ชี้ตำหนิที่ได้แสดงไว้แล้ว

พิมพ์สมาธิ-เข่ากว้างเล็ก

พระพิมพ์นี้บางคนเรียกว่า "พิมพ์พุงป่อง-ตุ๊กตาเล็ก" บางคนเรียกว่า "พิมพ์ป๊อบอาย" ดูภาพแล้วจะเห็นว่า คนออกแบบแกะ
แม่พิมพ์ใช้ศิลปผสมผสานระหว่างพิมพ์พุงป่องเล็ก กับพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก กล่าวคือ ส่วนท่อนบนขององค์พระคือ พิมพ์พุงป่องเล็ก
ส่วนท่อนล่างขององค์พระคือ พระเพลาขาและเข่าองค์พระ คือพิมพ์ตุ๊กตาเล็กนั่นเอง คงจะมองภาพเห็นได้แล้วนะครับ
ว่าอะไรเป็นอะไร ถ้าจะแยกรายละเอียดลงไปให้เห็นจะเป็นดังนี้


1. เค้าหน้าเป็นแบบพิมพ์ตุ๊กตาเล็กคือแก้มสอบ-คางแหลม
2. ส่วนที่เป็นอก ท้องและการวางเส้นแขนทั้งท่อนบนท่อนล่างถอดเค้ามาจากพิมพ์พุงป่องเล็กทุกประการ
3. ส่วนที่เป็นขา-เข่า และแข้ง ถอดเค้ามาจากพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก

ขนาดขององค์พระ กว้างประมาณ 1-1.2 ซม. ส่วนสูงประมาณ 1.7-2 ซม.ส่วนมากพระพิมพ์นี้ปีกกว้างสมส่วน

จุดสังเกตและตำหนิในการดู พระวัดพลับ พิมพ์สมาธิเข่ากว้างเล็ก ขอให้ดูจากภาพชี้ตำหนิที่ได้แสดงไว้แล้ว

พิมพ์ปิดตา

พระวัดพลับ พิมพปิดตา

พระปิดตา พระภควัมบดี และพระภควัมบดีก็คือ พระสังกัจจายน์ และพระสังกัจจายน์ก็คือ พระมหากัจจายน์เถระองค์เดียว
เป็นพระสาวกองค์หนึ่งของพระพุทธองค์

พระปิดตา ถือกันว่าเป็นพระทางให้โชคลาภ และด้านเมตตามหานิยม จะเป็นเนื้อประเภทใดก็ตาม เรื่องนี้เป็นความเชื่อของ
บุคคลบางคน โดยยึดถือประวัติความเป็นมาของพระมหากัจจายน์เถระ เป็นหลักความจริงแล้วพระปิดตาชนิดที่มีพระพุทธคุณ
ด้านอยู่ยงคงกระพันชาตรีก็มีอยู่ที่คนปลุกเสก ท่านอัดพลังจิตชนิดไหนลงไปต่างหาก พระกรุวัดพลับท่านก็รู้ๆอยู่ว่ามีพุทธคุณ
ทางด้านเมตตามหานิยมเป็นเลิศนำหน้า ส่วนพุทธคุณทางด้านคงกระพันชาตรีตามหลัง และพระพุทธคุณด้านป้องกันเขี้ยวงาก็มีด้วย

พระปิดตา มีลักษณะเป็นพระนั่งเอามือปิดไว้ที่หน้า คือปิดตา 2 ข้าง ปิดจมูก 2 รู และปิดปากเรียกว่า ปิดทวารทั้ง 5 แต่ถ้า
ปิดหูปิดทวารหนัก-ทวารเบาด้วย เรียกว่าปิดทวารทั้ง 9 บางทีก็เรียกว่า "พระปิดตามหาอุตม์"

เมื่อรู้ประวัติที่มาของแบบพิมพ์พระปิดตาโดยสังเขปแล้ว ลำดับต่อไปจะได้แยกพิมพ์ของพระปิดตากรุวัดพลับและกรุวัดโค่ง
กันต่อไป

พระปิดตาขนาดใหญ่

พระปิดตากรุวัดพลับ เท่าที่พบเห็นกันแล้วมี 2 ขนาด คือขนาดใหญ่ กับขนาดเล็ก โดยถือขนาดขององค์พระภายในเป็นหลัก
แลเห็นใหญ่หรือเล็กกว่ากัน ส่วนปีกและขอบด้านนอกไม่แน่นอนยึดถือไม่ได้

ลักษณะขององค์พระ เป็นพระนั่งขัดราบมือ 2 ข้าง ยกขึ้นปิดหน้า

ขนาดขององค์พระ กว้างประมาณ 1.3 ซม. ส่วนสูงประมาณ 1.8 ซม.

จุดสังเกตและตำหนิในการดู พระวัดพลับ พิมพ์ปิดตา ขนาดใหญ่ ขอให้ดูจากภาพชี้ตำหนิที่แสดงไว้อย่างคร่าวๆ พอเป็น
แนวทาง

พิมพ์ปิดตาขนาดเล็ก

พระปิดตาขนาดเล็ก ดูภาพแล้วจะเห็นว่าอะไรๆก็ตื้นเลือนลางบางไปหมด แลดูไม่ชัดคมลึกเหมือนพิมพ์อื่นๆ ที่ผ่านมา
ภาพที่เห็นพอเป็นเค้าให้รู้ว่าเป็นพิมพ์ปิดตาเท่านั้น พระพิมพ์นี้หลักใหญ่จึงต้องพิจารณาด้านเนื้อพระเป็นหลักใหญ่ ด้านพิมพ์
ทรงก็มีส่วนช่วยได้บ้างแต่เรื่องตำหนิก็รู้สึกว่าจะไม่มี

ลักษณะขององค์พระ เป็นพระนั่งขัดราบมือ 2 ข้างยกขึ้นปิดหน้า

ขนาดองค์พระ กว้างประมาณ 1 ซม. สูงประมาณ 1.5 ซม.

พิมพ์ 2 หน้า

พระวัดพลับ พิมพ์สองหน้า

พระวัดพลับ พิมพ์ 2หน้า เท่าที่ข้าพเจ้าพบเห็นมา 2 องค์ เป็นของข้าพเจ้าองค์หนึ่ง และเป็นของคุณวิวัฒน์ เรืองพรสวัสดิ์
อีกองค์หนึ่ง แบบพิมพ์ด้านหนึ่งเป็นพิมพ์พุงป่องเล็ก อีกด้านหนึ่งเป็นพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก นอกเหนือจากนี้ยอมรับว่ายังไม่เคยเห็น

เพราะฉะนั้น พระวัดพลับ พิมพ์ 2 หน้า จึงสันนิษฐานได้เลยว่าสร้างไว้จำนวนน้อยมาก น้อยกว่าพิมพ์ปิดตา และน้อยกว่า
พิมพ์ยืนถือดอกบัวหรือพิมพ์นอนด้วย

พระวัดพลับ ทุกแบบพิมพ์จะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ก็ตาม มีพระพุทธคุณทางด้านการใช้งานเหมือนกัน และเท่ากัน
ทุกอย่าง เพราะปลุกเสกในพิธีเดียวกันเนื้อพระครกเดียวกัน สาเหตุที่ราคาไม่เท่ากันเพราะพวกเรามาแบ่งพรรคแบ่งพิมพ์กำหนด
ขึ้น แบบไหนมีจำนวนมากหาได้ง่ายก็บอกว่าราคาต้องถูกหน่อย

พระวัดพลับพิมพ์ 2 หน้า คือพิมพ์พุงป่องเล็กกับพิมพ์ตุ๊กตาเล็ก ลักษณะแบบพิมพ์องค์พระก็ดี

จุดสังเกตและตำหนิในการดูพระแต่ละแบบพิมพ์ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น คิดว่าไม่ต้องนำมากล่าวซ้ำไว้ตรงนี้ให้เยิ่นเย้อ
ยาวความก็คงจะได้ ขอให้ท่านกรุณาพลิกไปดูซักหน่อยก็แล้วกันนะครับ

เรื่องของเนื้อพระวัดพลับ

จากหนังสือพระพิมพ์เครื่องรางเรียบเรียงโดย ร.อ.หลวงบรรณยุทธ ชำนาญ(สวัสดิ์ นาคะสิริ) ปรมาจารย์พระเครื่องในอดีต
กล่าวถึงเรื่องพระวัดพลับไว้ว่า…พระวัดพลับอยู่ในกรุวัดพลับ ทำด้วยผงสีขาวผสมปูนเนื้อแข็งขาว ท่าพระนั่งขัดสมาธิ มีทั้งใหญ่
และเล็กประมาณเท่าเบี้ยจั่น กับทำพระนอนและปิดตาก็มี แต่หาได้น้อย ที่ทำเป็น 2 หน้าก็มี แต่หายากมีน้อย และพบทำด้วย
ตะกั่วก็มีมักทำแต่ขนาดเล็ก

จากหลักฐานดังกล่าวข้างต้นที่คนรุ่นก่อนเขียนเป็นหลักฐานบอกไว้เป็นความจริงทุกอย่าง คือ พระวัดพลับ มีทั้งชนิดเนื้อผง
สีขาวกับเนื้อชินตะกั่ว ชนิดเนื้อผงขาวพบบ่อย แต่ชนิดเนื้อชินตะกั่วพบน้อยหายากมาก เจอแต่เก๊ทั้งนั้น ของจริงมีน้อย เคยพบเห็น
มาเพียงไม่กี่องค์ ขาดความนิยมไปอย่างน่าเสียดาย เรียกว่าราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ เนื่องจากคนยังไม่รู้จักและไม่นิยม นิยมกัน
แต่เนื้อผงสีขาวเท่านั้น

ส่วนผสมของเนื้อพระวัดพลับชนิดผงขาว ที่เรียกกันว่าปูนปั้นคงจะประกอบด้วยปูนขาวที่ได้จากการเผาเปลือกหอยทะเล
เกสรดอกไม้ น้ำมันตั้งอิ๊ว ฯลฯ และผงวิเศษที่ได้จากการปลุกเสกอย่างดีแล้ว คือ ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงพุทธคุณ
และผงตรีนิสิงเห นำมาคลุกเคล้ากันใช้ในการพิมพ์พระ เมื่อเนื้อผงพระแห้งแล้วจะมีความแข็งแกร่งแบบเซทตัวของปูนซีเมนต์

เมื่อส่องดูด้วยแว่นขยายจะพบว่า เนื้อมีความละเอียด แกร่ง-แข็ง-ขาว มีจุดเหลืองของเนื้อกล้วย จุดเม็ดปูนขาวขุ่น และ
จุดสีดำซึ่งพบน้อยมาก นอกจากนี้อาจจะมีจุดสีแดงอิฐปะปนอยู่บ้าง แต่พบน้อยเช่นกัน

พระวัดพลับ เป็นพระถูกบรรจุไว้ในกรุเจดีย์ อยู่ในที่สูงที่แห้ง ไม่ได้ฝังอยู่ใต้ดินแบบพระสมเด็จบางขุนพรหม เพราะฉะนั้น
จึงมีคราบกรุบางๆ ไม่จับหนาเขรอะขระ ส่วนมากจะเป็นชนิดคราบกรุสีขาว หรือสีขาวอมน้ำตาลเป็นเม็ดเป็นปุ่มเล็กๆ คล้าย
หนังกระเบน บางองค์ผิวลายแตกงาฐานร้าวแบบชามสังคโลก บางองค์มีชนิดที่เรียกว่า "เนื้องอก" อีกด้วย

เรื่องการแตกลายงาหรือลายสังคโลกเป็นปัจจัยข้อหนึ่ง ในหลายๆข้อที่ต้องใช้ประกอบในการดูเนื้อพระวัดพลับ เพราะเนื้อ
พระวัดพลับส่วนมากมีแตกลายงาทั้งด้านหน้าและด้านข้าง และด้านหลัง ชนิดที่ไม่แตกลายงามีน้อย เส้นลายงาหรือลายสังคโลก
เป็นเส้นเล็กปริแยกจากใต้ผิวพระขึ้นมา เป็นลักษณะแบบธรรมชาติ ดูด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น ต้องใช้แว่นขยายช่วย มีลักษณะ
เป็นอย่างไรขอให้สังเกตดูจากเครื่องลายคราม หรือเครื่องปั้นดินเผาเก่าๆ ประกอบเปรียบเทียบ

เนื้อพระชนิดแตกลายงานี้ เมื่อถูกจับใช้ได้รับความชื้นจากมือหรือไอเหงื่อ รอยแยกลั่นร้าวของเนื้อพระจะใหญ่ขึ้น มองด้วย
ตาเปล่าเห็นชัด เป็นลักษณะการลั่นร้าวแบบธรรมชาติจากภายในออกมาภายนอก ผิวพระจะคงเรียบร้อยอย่างเดิม ไม่มีลักษณะ
ผิวบวมนูนสูงแบบของปลอมหรือที่เขาอบด้วยเครื่องไฟฟ้า

คนโบราณนิยมใช้พระวัดพลับโดยอมไว้ในปาก และคนโบราณรุ่นก่อนนิยมการกินหมาก เพราะฉะนั้นพระวัดพลับที่พบเห็น
โดยมากมีรอยถูกอมเปรอะเปื้อนน้ำหมาก แต่คนรุ่นหลังก็นำมาล้างน้ำหมากออก เพราะชอบความสะอาด พระที่ผ่านการอมใช้
จากคนรุ่นก่อนมาแล้ว เนื้อพระจะจัดแลดูมีความซึ้งประทับใจมาก ถ้าส่องดูด้วยแว่นขยายแล้วอย่าบอกใครเชียว พูดได้อย่างเดียว
ว่าสวยมากๆ

สำหรับพระที่มิได้ผ่านการใช้งานคือ มีเก็บไว้เฉยๆ บนหิ้ง หรือในห่อในพานบ้านเก่าๆ ผิวพระจะมีลักษณะแห้งผากคล้ายปูน
กำแพงเก่าๆ หรืออาจจะแลดูคล้ายพระบวชใหม่ๆ ไปก็มี สำหรับคนที่ไม่ชำนาญสันทัดกรณี พระแบบอย่างว่านี้แหละมีคนเสาะหา
เอาไว้สำหรับส่งเข้าประกวดความงามเพราะถือว่า เจ้าของพระเก็บอนุรักษ์ไว้ดีสภาพเดิมเหมือนกับที่ออกมาจากกรุใหม่ๆ

พระวัดพลับมีการปลอมแปลงลอกเลียนแบบมาช้านานแล้ว เรียกว่าของปลอมล้นตลาดมีมากกว่าของจริง แต่ทั้งพิมพ์และเนื้อ
ไม่เหมือนกับของจริงเลย ยังมีช่องว่างห่างกันมาก จำแบบพิมพ์ให้แม่นแล้วหาของจริงดูเนื้อพระแป๊บเดียวก็รู้ ถ้าเคยเห็นของจริง
สักครั้งเดียวจะติดตา

ปกิณกะเรื่องเนื้อพระวัดพลับอย่างละนิดอย่างละหน่อยที่นำมาแสดงคงจะพอเป็นแนวทาง สำหรับการศึกษาค้นคว้า
ของผู้ที่สนใจบ้าง บอกกับท่านมาหลายครั้งแล้ว การศึกษาเรื่องพิมพ์เรื่องตำหนิไม่ยาก แต่การศึกษาเรื่องเนื้อพระนั้นยากกว่า
เรื่องพิมพ์ทรง ต้องศึกษาจากพระองค์จริงที่เป็นของแท้ประกอบกัน การอ่านตำราจึงจะได้ผลเป็นเร็ว อ่านตำราอย่างเดียว
แล้วไม่หาของจริงดู ประเดี๋ยวก็ลืม

พระสมเด็จวัดพลับดีอย่างไร?

คำว่าดีอย่างไรในที่นี้ ข้าพเจ้าตีความหมายตามความคิดเห็นของตัวเองเป็น 2 อย่าง ประการแรกหมายถึง "ดีภายนอก"
ได้แก่ศิลปะขององค์พระ รูปร่างและขนาด ส่วนผสมของเนื้อหา เรียกว่า สัมผัสดูได้ด้วยตา รายละเอียดประเดี๋ยวเรามาคุยกันดู
ประการต่อมาหมายถึง "ดีภายใน" อันนี้สำคัญมากหัวใจของเรื่องอยู่ตรงนี้ พูดสั้นๆก็คือ "คุณภาพของพระเครื่องนั่นเอง" ซึ่ง
แน่นอนจะต้องพาดพิงเกี่ยวโยงไปถึงผู้ผลิต พระอาจารย์สุก ผู้ปลุกเสกว่า "ท่านขลังขนาดไหน" ตอนแรกนี้ขอกล่าวในประเด็น
ที่ 1 ก่อน เรื่องดีภายนอกของพระวัดพลับ ดีอย่างไร?

- ศิลปะขององค์พระ เป็นศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ แบบเรียบง่าย ปราศจากลวดลาย และเครื่องอลังการ จุดเด่นอยู่ที่
องค์พระประการเดียว แม้ว่ามีบางพิมพ์แปลกแหวกแนวออกไปบ้าง เช่น พิมพ์ยืน เป็นต้น แต่พิมพ์อื่นส่วนใหญ่แล้วศิลปะดี

- รูปร่างขนาดน้ำหนัก ขนาดใหญ่โตประมาณเท่าหัวแม่มือ ขนาดเล็กโดยประมาณเท่าเบี้ยจั่น หรือโตกว่าไข่จิ้งจก
นิดหน่อย เป็นรูปพระนั่งสมาธิ พิมพ์สะดุ้งมารไม่มี กับพิมพ์ยืนถือดอกบัว หรือบางท่านเรียกพิมพ์นอน กับพิมพ์พระปิดตา
สรุปแล้ว เป็นพระขนาดเล็กกระทัดรัดน้ำหนักเบาน่าใช้น่าแขวนคอ

- ส่วนผสมของเนื้อพระ อันนี้ไม่มีใครนำไปแยกธาตุดูว่ามีอะไรบ้าง แต่พูดกันทั่วไปว่ามีผงสีขาวผสมปูนปั้น คือเดากันว่า
มีผงปูนขาว ได้จากการเผาเปลือกหอยทะเล กล้วย เกสรดอกไม้ น้ำมันตั้งอิ๊ว ฯลฯ และผงวิเศษที่ปลุกเสกแล้วนำมาคลุกเคล้า
ผสมกันใช้ในการพิมพ์พระ เมื่อเนื้อพระแห้งแล้วจะแข็งแกร่งแบบ "เซทตัว" ไม่ต้องเผาไฟอย่างเนื้อดินเผาทั่วไป สรุปแล้ว
มันเนื้อผงปูนปั้นชนิดดีเยี่ยม

ตอนที่ 2 จะกล่าวถึงเรื่อง "ดีภายใน" แยกเป็นส่วนย่อยสองตอนอีก ตอนย่อยอันแรกว่าด้วยคุณภาพของพลังงานทางจิต
ของอาจารย์ผู้ปลุกเสกโดยทั่วไป กับตอนย่อยอันที่สอง ว่าด้วยความชำนาญแต่ละแขนงวิชาของอาจารย์ผู้ปลุกเสกเป็นเอตทัคคะ

ตั้งแต่สมัยโบราณเรื่อยลงมาถึงจุดปัจจุบันเท่าที่รู้มา การสร้างพระเครื่องรางของขลังทุกอย่างแต่ละคราว องค์พระประมุขของ
ชาติสร้างขึ้นก็ดี รัฐบาลสร้างขึ้นก็ดี พระเกจิอาจารย์ตามวัดสร้างขึ้นก็ดี ตลอดจนเอกชนทั่วไปสร้าง ต่างก็จะแสวงหาพระอาจารย์
คัดเลือกเฟ้นตัวกันว่า เป็นยอดของแต่ละท้องที่แต่ละแขวง หรือจังหวัดทั่วประเทศไทย โดยนิมนต์อาราธนาท่านมาร่วมพิธีพุทธา
ภิเษกปลุกเสกพระเครื่อง พระอาจารย์บางองค์อายุมากสุขภาพไม่ดีมาไม่ได้ท่านก็จะทำผงวิเศษให้มาหรืออาจจะอธิษฐานจิต
ลงบนแผ่นโลหะ หรือวัสดุที่ใช้ในการสร้างพระให้มาร่วมรายการด้วย นอกจากพระเกจิอาจารย์บางองค์ท่านมีความประสงค์จะสร้าง
ของท่านคนเดียวท่านก็ไม่ต้องไปนิมนต์ให้องค์อื่นมาช่วย

"การปลุกเสกก็คือ การบรรจุพลังงานทางจิต" ซึ่งเป็นคลื่นคล้ายวิทยุแต่มีความถี่และละเอียดกว่า ดูด้วยตาไม่เห็นสัมผัส
จับต้องด้วยมือไม่รู้สึก และยังไม่มีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ วัดความถี่ หรือความเข้มความแรงเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ บรรจุให้เข้าไป
ติดแน่นอยู่ภายในองค์พระที่สร้างขึ้นมา เป็นธรรมดาพลังงานทางจิตของอาจารย์แต่ละองค์ไม่เท่ากันองค์ไดได้ฌาณชั้นสูงมีสมาธิ
แก่กล้ามาก บรรจุพลังงานทางกระแสจิตได้เร็วมีความเข้มมากเรียกว่า "มีคุณภาพสูง" ถ้าตรงกันข้ามเรียกว่า "มีคุณภาพต่ำ"
หรือถ้าเปรียบเทียบอย่างง่าย "การปลุกเสกกับการชาร์ตแบตเตอรี่" ก็พอได้ เมื่อประจุไฟฟ้าเข้าไปในหม้อแล้ว เวลาจะใช้งาน
ต้องหาสายไฟมาต่อเป็นสะพานเชื่อมโยงจึงจะนำเอาพลังงานไฟฟ้าจากหม้อแบตเตอรี่ไปใช้งานได้ จุดประสงค์จะใช้เรื่องอะไร
ต้องการให้หลอดไฟฟ้าสว่างหรือ ต้องการให้เครื่องยนต์ติดย่อมได้ทั้งนั้น

ถึงตอนนี้บางท่านมีปัญหาเกิดขึ้นในใจแล้ว "ปลุกเสกหมู่กับปลุกเสกเดี่ยวอย่างไหนจะดีกว่ากัน" ความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้า
"ปลุกเสกหลายองค์ดีกว่า" เพราะเป็นการสามัคคีพลังจิตข้อสำคัญที่ว่า "หลายองค์นั้นจะต้องมีคุณภาพสูงด้วย" บางท่าน
มีปัญหาตามมาอีกเปราะหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องราวเวลาที่ใช้ในการปลุกเสก เช่น ปลุกเสกอึดใจเดียวกับปลุกเสกนานๆ แรมเดือนแรมปี
อย่างไหนจะดีกว่ากัน คำตอบต้องเลือกเอาประเด็นหลัง "ปลุกเสกนานย่อมจะต้องดีกว่า" มีการสะสมพลังงานมากกว่าพิธี
พุทธาภิเษกที่ทำกันอยู่ทั่วไปอย่างดีไม่เกิน 3 ใน 7 วัน เพราะทำนานๆมันเปลืองค่าโสหุ้ยใช้จ่ายและเสียเวลาแรงงานต่างกับ
สมัยโบราณ เท่าที่รู้มาจุดประสงค์ของผู้สร้างจะเป็นใครก็ดีต้องการของที่ทำออกมาแล้ว "มีคุณภาพสูงและดีที่สุดไม่เกี่ยวกับ
เรื่องการค้าพาณิชย์ สร้างเสร็จก็แจกกันไปใช้ฟรีๆ ส่วนที่เหลือบรรจุเข้าพระเจดีย์เป็นพุทธบูชาสืบต่อศาสนาก็ถือว่าได้บุญโชคโข
อยู่แล้ว ของกรุของเก่าซึ่งมีคุณภาพสูง

ที่บอกกล่าวให้รู้ตอนต้นนี้เป็นเรื่อง "ดีภายในส่วนที่หนึ่ง" พระอาจารย์ที่มาร่วมพิธีปลุกเสกแต่ละองค์มีอำนาจพลังงานทางจิต
ไม่เท่ากัน บางองค์อยู่ในชั้นสูง บางองค์อยู่ในชั้นต่ำ ท่านรู้กันเองยกย่องกันเอง ในหมู่ของท่านผู้เรืองวิชาเหล่านั้นบอกแล้วไงว่า
ยังสร้างเครื่องมือ เครื่องวัด ตลอดจนเครื่องรับส่งยังไม่ได้ต่อไปนี้จะได้พูดถึง "ดีภายในส่วนที่ 2 " ท่านเชื่อไหม? ความถนัดชำนาญ
แต่ละแขนงวิชาของอาจารย์ผู้ปลุกเสกที่ได้รับการถ่ายทอดมา "ไม่เหมือนกันและไม่เท่าเทียมกันอีก" เรียกว่า "เก่งไปคนละอย่าง
และเก่งมากเก่งน้อย" บางองค์ศึกษาเล่าเรียนมา จากสำนักเดียวกันอาจารย์เดียวกัน แต่ทำของขึ้นไม่เหมือนกัน ถ้าจะเปรียบเทียบ
ให้เห็นชัดๆ คนที่ศึกษาวิชาทางการแพทย์ย่อมจะมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาลเจ็บป่วย ตามที่ศึกษาจาก
การทหาร ย่อมจะมีความชำนาญเกี่ยวกับเรื่องการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการสงครามเรื่องยุทธวิธี และกลศึกที่จะต่อสู้กับข้าศึก
คนที่ศึกษาวิชาการช่างกลอุตสาหกรรมย่อมมีความรู้ความชำนาญ เกี่ยวกับเรื่องการซ่อมสร้างเครื่องยนต์กลไกและงานช่างทั่วไป
เป็นตัวอย่าง คือแต่ละคนจะมีความชำนาญงานไปคนละอย่างตามถนัดที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแต่ถ้าสับเปลี่ยนตำแหน่งกัน และศึกษา
เพิ่มเติมอาจจะทำได้แต่ไม่ชำนิชำนาญ เหมือนอย่างที่เขาศึกษามาโดยตรงอันนี้เป็นหลักความจริงธรรมดาๆ อุปมาฉันใดพระอาจารย์
ที่มาช่วยร่วมพิธีพุทธาภิเษกก็อุปไมยฉันนั้น

บางองค์มีความชำนาญมากในเรื่องเมตตามหานิยมแต่ไม่ค่อยชำนาญในเรื่องคงกระพันชาตรี เพราะ

 
โดย : พระช้างเผือก    [Feedback +37 -0] [+0 -0]   [ 2 ] Mon 18, Jan 2010 13:52:56

 

บางองค์มีความชำนาญมากในเรื่องเมตตามหานิยมแต่ไม่ค่อยชำนาญในเรื่องคงกระพันชาตรี เพราะไม่ได้ศึกษาหรือได้รับการ
ถ่ายทอดมาจากพระอาจารย์ของท่านไม่มากนัก บางองค์ชำนาญในเรื่องมหาอุตม์โดยเฉพาะแต่ไม่ชำนาญในเรื่องการปลุกเสก
ป้องกันเขี้ยวงา หรือไม่ชำนาญในเรื่องการแคล้วคลาดเป็นตัวอย่าง

ดังนั้นการใช้พระจึงควรใช้หลายองค์ดีกว่าองค์เดียวแน่ไม่มีพระองค์ใดใช้ได้สารพันทุกอย่าง เชื่อเถอะต้องมีข้อจำกัด
ตามข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างนั้น ท่านไม่ต้องเชื่อตามข้าพเจ้าหรอก โปรดพิจารณาไตร่ตรองดูก่อนอาจจะเป็นความจริงได้ไหม
"และเราจะใช้พระอะไรกันดี" ต้องเขียนอีกเรื่องหนึ่งต่างหากกระมัง

เมื่อได้สร้างรูปเคารพขึ้นมาแล้วพระอาจารย์ที่เก่งๆ ท่านก็ปลุกเสกให้แล้วเวลาจะนำไปใช้งาน ก็ต้องมีสะพานเชื่อมต่อคือ จิต
หรือใจของผู้เป็นเจ้าของวัตถุมงคลนั้นๆ น้อมใจรำลึกถึง หมั่นกราบไหว้บูชามีความศรัทธาเชื่อมั่น หมั่นอาราธนาปลุกเสกอธิษฐาน
ขอพรบารมีบันทึกผลของการกระทำที่สะท้อนมาสู่ตัวท่านจะพบโดยตัวของท่านเองว่า " พระเครื่ององค์น้อยกระจิดริด ศักดิ์สิทธิ์
มีอภินิหาร" ขออย่าได้แขวนแบบเป็นแบบ"แฟชั่น" เลย นี่เป็นเรื่อง "ดีภายใน" การปลุกเสกพระเครื่องรางของขลังทุกอย่างทุกชนิด
ต้องมีขั้นตอนดังที่ได้กล่าวมาให้ฟัง บางท่านอาจจะบอกว่า "อ้ายหมอนี่ดูหนังจีนกำลังภายในเรื่องมันชักจะไปกันใหญ่แล้ว" ครับ

ข้าพเจ้าพาท่านออกสู่ทะเลลึกเสียไกล เรากลับขึ้นฝั่งกันเถอะ เพื่อช่วยกันขบคิดปัญหา เรื่องดีภายในของพระวัดพลับ
พระวัดพลับมีคุณภาพหรือไม่ ท่านทั้งหลายคงจะเห็นมากับตา และได้ยินกับหูตนเองแล้วเรื่องการโฆษณาสินค้าทางวิทยุหรือ
ทางทีวีว่ามีคุณภาพดีอย่างโน้นอย่างนี้ เพื่อแนะนำให้คนรู้จัก และซื้อสินค้าของเขาที่ผลิตขึ้นมาแต่ในทางตรงกันข้ามพระที่มี
ชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาจนคนรู้จักและเสาะแสวงหากัน เพื่อนำมาไว้คุ้มครองป้องกันตัว และเป็นศิริมงคลแก่ตัวเองไม่เคยมีประวัติ
มาก่อนต้องเสียค่าโฆษณา ทางหนังสือพิมพ์ทางวิทยุ หรือทางทีวีเลย ดังจากการที่หลายๆคนนำไปใช้งานแล้วมีประสบการณ์
เกิดความศักดิ์ในเรื่องต่างๆ มีหลายคนรู้เห็นเป็นพยานพูดโจษขานกันไปปากต่อปาก เวลานานเข้ารู้กันไปทั่วเมือง ทั่วประเทศว่า
พระพิมพ์นี้มีชื่อนี้ มีคุณภาพยังไง เรียกว่าเชื่อถือได้ คุณภาพดี-คุณภาพสูง พระวัดพลับก็เข้าหลักเรือลำเดียวกับเรื่องนี้
คนส่วนมากบอกว่าพุทธคุณของท่านดีทางเมตตามหานิยม และทางคงกระพันชาตรีก็ใช้ได้

•••••••••••••••••••••••••

www.soonphra.com
ศูนย์พระดอทคอม
คลังข้อมูลพระเครื่องออนไลน์

 
โดย : พระช้างเผือก    [Feedback +37 -0] [+0 -0]   [ 3 ] Mon 18, Jan 2010 13:55:09

 

บทความดี

แต่พระที่ลงโชว์ สงสัยเสร็จครับ

 
โดย : ซ้งบึงกาฬ    [Feedback +3 -0] [+0 -0]   [ 4 ] Mon 18, Jan 2010 20:24:04





 

ขอบพระคุณอย่างสูงครับ พี่ ซ้งบึงกาฬ    ยินดี มากๆครับ

ปล. กรุวัดพลับนี้พระช้างเผือก ได้ทำการตรวจสอบแล้วเมื่อวาน  ไม่ผ่านครับ  !!

รบกวนแอดมิน ลบกระทู้นี้ได้เลยครับ   ขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

ขออภัยท่านผู้ชม และ ท่านสมาชิคทุกท่านครับ

พระช้างเผือก ขอน้อมรับ คำติชม และขอรับผิดครับ

 
โดย : พระช้างเผือก    [Feedback +37 -0] [+0 -0]   [ 5 ] Tue 19, Jan 2010 08:36:28

 

เรียน พระช้างเผือก

ทางเว็บลบรูปพระที่โชว์ออกแล้วครับ

ส่วนเนื้อหาที่ลง คิดว่าเป็นประโยชน์ครับ

 
โดย : admin    [Feedback +4 -1] [+0 -0]   [ 6 ] Tue 19, Jan 2010 10:38:34

 
พระกรุ วัดพลับ กรุงเทพมหานครฯ : พระล้านนา.คอม เว็บ พระเครื่อง พระบูชา อันดับหนึ่ง ของภาคเหนือ ออกแบบเว็บไซต์โดย 2WinWeb design บริการรับทำเว็บไซต์
Copyright Pralanna.com All right reserved. © สงวนลิขสิทธิ์ตามกฎหมายโดย บริษัท พระล้านนาดอทคอม จำกัด.